Dhamma together:แผ่เมตตา

พระพุทธองค์ทรงชี้ทางแก่ผู้มาหา...มาฝึกกับพวกเราสิ...

เวลาคนเราเกลียดกัน ต่างฝ่ายต่างจะรู้สึกถึง ‘จุดดำ’ ที่มีต่อกัน มันเหมือน ‘ขั้วแห่งความมืด’

ที่ขั้วเราก็มี ขั้วเขาก็มี พอเรา ‘แผ่เมตตา’ ให้ แล้วจุดดำนั้น หายไปจากใจจริงๆ อย่างน้อยชั่ว

ขณะหนึ่ง อย่างน้อยชั่วขณะเช้านั้น ที่เพิ่งแผ่เมตตาให้เขา เจอหน้ากันเขาก็จะรู้สึกว่า

จุดดำที่มัน ‘อยู่ในเขา’ ยังมีอยู่

แต่ จุดดำที่ ‘อยู่ในเรา’ มันเหมือนหายไป ! มันเหลือแต่ขั้วของเขา ขั้วของเรามันสว่างขึ้นมา

เขาก็จะรู้สึก ‘แปลกใจ’ !

 

พอรู้สึกไปวันหนึ่ง อาจจะแค่แปลกใจวันเดียว แต่ถ้ารู้สึกอย่างนี้ทุกวัน ในที่สุด ‘จุดดำที่อยู่ใน

ขั้วเขา’ มันจะค่อยๆหรี่ลงๆ และถ้าไม่มีเรื่อง ไม่มีราว ไม่มีเหตุการณ์แย่ๆ ระหว่างกัน มาซ้ำ

เติมเข้าไปอีก ในที่สุดจุดดำตรงนั้นมันจะหายไปจริงๆ ! นี่คือสิ่งที่เราจะได้ จากการแผ่เมตตา

ตัว ‘ความโกรธ’ อาจพัฒนาเป็น ‘ความพยาบาท’ หรืออาจจะหายไปเสียเฉยๆ ก็ได้ ขึ้นอยู่กับ

เหตุปัจจัยหลายต่อหลายประการ 

 

ความ ‘พยาบาท’ นั้น จะหมายเอา ความแค้นใจ ความเจ็บใจ ความคิดร้าย ซึ่งเป็น ‘ตรงข้าม’

กับ ‘เมตตา’ โดยตรง พฤติของจิตจะเป็นไปในทาง ‘ผูกใจ คิดแก้แค้นเอาคืน’ หรือแม้ไม่ถึง

ขั้นลงมือเอาคืน ก็มีอาการขัดเคือง ‘ขุ่นข้องค้างเติ่ง’ อยู่อย่างนั้น 


การแผ่เมตตา มิใช่การทำ ‘เชื้อแห่งความโกรธ’ ให้ดับ

ลงสนิท : จุดประสงค์ของการแผ่เมตตา เป็นไปเพื่อ

‘ละพยาบาท’ อันเป็นของครอบงำจิตระยะยาว

การแผ่เมตตาเป็นเรื่องของการ ‘เปลี่ยนนิสัย’ คือต้อง

"ละพยาบาท" ให้ "ขาดจากจิต" ! : แม้โกรธขึ้นก็

เหมือนจุดไฟดวงน้อย เรามี ‘น้ำกลุ่มใหญ่’ ไว้สาดให้ดับ

พร้อมอยู่แล้ว  แผ่เมตตานั้น คือ ‘ทำความสุข’ ให้เกิดใน

‘จิตตนเอง’ ก่อน จะด้วยวิธีการทำสมาธิ หรือไปทำบุญ

ที่ไหนก็ตาม แล้วให้กระแสสุขแผ่ออกกว้างๆ


ไม่จำกัด เฉพาะในตัวเรา ..เหมือนคนมีเงินมากแล้วใจบุญ อยากแจกจ่ายให้คนอื่นได้มั่งมี

ตามตน ขณะที่มีความสุข มีความปลื้มปีติมากๆ จะสังเกตว่าใจเรากว้างขวาง เขาถึงเรียกว่า

"คนใจกว้าง" ด้วยมูลความจริงทางจิตเช่นนี้

หลายคนได้รับคำแนะนำให้ภาวนา สัพเพ สัตตา อเวรา โหนตุ ภาวนาอยู่เกือบสิบปี

ยังหน้าตาเหี้ยมเกรียมอยู่เหมือนเดิม ทั้งนี้เพราะตั้ง ‘ความเข้าใจ’ ไว้ผิดพลาด ว่าแค่ท่องบ่น

ไปก็คือการ ‘เจริญเมตตาภาวนา’ แล้ว หรือหนักกว่านั้นคือนับเป็นการ ‘แผ่เมตตา’ แล้ว 

 

ขอให้เข้าใจว่าการเจริญเมตตานั้น เป็นอาการของ ‘จิต’ ที่ส่งความปรารถนาดี ปรารถนาให้ผู้

อื่นเป็นสุขด้วยใจจริง การท่องบ่นสาธยายมนต์นั้น ไม่ต่างกับนกแก้วนกขุนทองที่พูดได้

คำสองคำ แต่หามีความเข้าใจหรือรับรู้ในภาษาที่ตนพูดไม่

 

การแผ่เมตตา ไม่ใช่จะใช้สื่อคือ ‘กระแสจิต’ อย่างเดียวนะครับ : นั่งๆ ‘คุย’ กันอยู่กับใคร

แล้วเรา ‘อยากพูดดี’ ให้เขาสบายใจ ก็จะมีลักษณะของ ‘จิตแบบแผ่เมตตาอ่อนๆ’ ออกมา

แล้ว หากใครบอกว่า ฝึกแผ่เมตตาแล้วไม่สำเร็จ เป็นของยาก ก็ขอให้ลองตั้งใจ พูดดี พูดให้

คนอื่นรื่นหู พูดให้คนอื่นเป็นสุข มีความสามัคคีกลมเกลียวกันมากๆ เป็นอาทิตย์ เป็นเดือน

เป็นปี ตั้งใจไว้เลยว่า ‘คำที่ออกจากปากเรา’ จะมีแต่กลิ่นหอมหวน นุ่มนวลเสนาะโสต

ไม่เหม็นเน่า ไม่แหลมระคายแก้วหูใคร ถึงวันหนึ่ง หากสัมผัสรู้สึกได้ว่ามี

‘กระแสความปรารถนาดีจริงใจ’ แผ่นำออกไป ‘ก่อนพูด’ ก็ให้ทราบเถิดว่า อันนั้นแหละ

คุณเป็น ‘นักแผ่เมตตาผ่านคำพูด’ แล้ว

 

ก่อนพูด ทำจิตให้นุ่มนวล เยือกเย็น และเต็มไปด้วยความปรารถนาดีจริงใจ พอพูดแล้ว

แม้คำธรรมดาๆก็โน้มน้าวให้เชื่อ หรือ ‘เหนี่ยวนำ’ ให้จิตคนฟังสงบเย็นลงได้

ลองสังเกตว่า ตั้งจิตไว้อย่างไร คำพูดของตัวเองจึงทำให้ ‘จิตเราเอง’ สงบก่อน เยือกเย็นฉ่ำ

ใจก่อน อันนั้นแหละครับ คนฟังก็จะรู้สึกเยือกเย็นตามเราไปด้วย นี่คือการฝึกแผ่เมตตา

ด้วยคำพูด’ และจะมี ‘พลังเหนี่ยวนำความสุข’ ให้เกิดขึ้นในคนอื่นทวีขึ้นเรื่อยๆ ต่อให้ดื้อ

อย่างไรก็ทนอยู่ไม่ไหวหรอกครับ !

ดังตฤณ

Dhamma together:"พรหมลูกฟัก"

พระพุทธองค์ทรงชี้ทางแก่ผู้มาหา...มาฝึกกับพวกเราสิ...



"พรหมลูกฟัก" คำเรียกขานผู้เริ่มทำดีต่อพระพุทธศาสนา

เป็นบุญเป็นกุศล แต่ลงท้ายด้วยการทำผิดทำบาป

เป็นอกุศลต่อพระพุทธศาสนา ... ท่านว่า พรหมลูกฟัก

เทวดานั้น มีจำนวนมากมาย ล่องลอยอยู่ในสวรรค์ชั้นพรหม

เป็นพรหมที่เคยปฏิบัติดีปฏิบัติชอบในพระพุทธศาสนา

แต่ไม่ปรากฎว่าด้วยกรรมใด จึงลงท้ายด้วยกาเปลี่ยนแปลง

ไม่ปฏิบัติพระพุทธศาสนาอย่างดีงาม

แต่ปฏิบัติไปตาม ความพอใจของตน ที่คิดว่าถูกต้อง เป็นการปฏิบัติผิดต่อพระพุทธศาสนา

เป็นอันมาก มีผลประการหนึ่งให้ต้องได้เป็นพรหมลูกฟัก ท่านผู้รู้ผู้เห็นเล่าว่า เทพพรหมที่เป็น

มนุษย์เคยปฏิบัติผิด ต่อพระพุทธศาสนา จะมีโทษหนักประเภทหนึ่ง คือต้องเปลี่ยนสภาพจาก

เทวดาชั้นพรหม ไปเป็นเทวดาชั้นพรหมลูกฟัก ท่านอธิบายว่าพรหมลูกฟักมีลักษณะเป็น

พรหม เช่นที่ได้เกิดในสวรรค์ชั้นพรหมตามกรรมที่ได้ทำ เป็นกรรมดีจึงได้ภพชาติเป็นพรหม

แต่หลังจากเริ่มต้นด้วยการทำดีต่อพระพุทธศาสนา ได้ละเลยในการปฏิบัติกรรมดี ไปพอใจ

ความคิดความเห็นและการปฏิบัติของตนมีความสำคัญ มีความถูกต้อง สมควรกว่าการปฎิบัติ

ในพระพุทธศาสนา ที่ตนเคยทำมา จึงเปลี่ยนความคิดเห็นไปตามกรรม ตามอำนาจความคิด

เห็นความพอใจของตน ซึ่งเมื่อเป็นการผิดต่อพระพุทธศาสนา ผลร้ายของกรรมประการหนึ่ง

คือต้องเปลี่ยนภพชาติ จากเป็นพรหม ไปเป็นพรหมลูกฟัก เมื่ออำนาจของกรรมที่ปฎิบัติผิด

ต่อพระพุทธศาสนาส่งถึง "พรหมลูกฟัก" นั้น ท่านผู้รู้เล่าว่า จะมีสภาพเป็นพรหม ที่กรรมดีนำ

ให้ไปเกิดนั้นเองแต่เมื่อกรรมไม่ดีตามมาทัน พรหมลูกฟักยังมีคุณลักษณะเป็นพรหมอยู่เช่น

เดิม แต้จะมีกรรมไม่ดีเป็นผลเข้าห่อหุ้มพรหมเหล่านั้นไว้ ซึ่งท่านว่ามีมากมายนักในสวรรค์ชั้น

พรหม แม้จะเป็นเทวดาชั้นพรหมที่งดงามแต่เมื่อถึงเวลากรรมให้ผล จะมีโทษของกรรมเข้า

ห่อหุ้ม พระพรพมซึ่งเป็นหนึ่งในเทวดา ก็จะถูกกรรมห่อไว้หุ้มไว้ทั้งร่าง ไม่อาจเคลื่อนไหว

ออกพ้นเครื่องห่อหุ้มได้ เห็นใครเห็นอะไรก็ไม่ได้ ปิดมิดอยู่ในเครื่องห่อหุ้มนั้นทั้งองค์ ไม่อาจ

ใช้ปากใช้เท้า ใช้มือที่มีอยู่พร้อมบริบรูณ์ได้ ต้องเป็นพรหมที่ถูกห้อมล้อมอยู่แน่นหนา ภายใน

เครื่องแวดล้อมที่มีลักษณะของ “ลูกฟัก” ที่ทำให้เกิดคำว่า “พรหมลูกฟัก” ขึ้น เป็นคำเรียก

ขานผู้เริ่มทำดีต่อพระพุทธศาสนาเป็นบุญเป็นกุศล แต่ลงท้ายด้วยการทำผิดทำบาปเป็นอกุศล

ต่อพระพุทธศาสนา.

แสงส่องใจ ส.ค.ศ. ๒๕๕๒

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

ประโยชน์สูงสุดของการสวดมนต์ นั่นคือ จะทำให้ท่านเป็นผลจนสำเร็จจนเป็นอรหันต์

พระพุทธองค์ทรงชี้ทางแก่ผู้มาหา...มาฝึกกับพวกเราสิ...



“ยังมีคนส่วนใหญ่เข้าใจว่า การสวดมนต์มีประโยชน์น้อยและเสียเวลา

มากหรือฟังไม่รู้เรื่อง ความจริงแล้วการสวดมนต์มีประโยชน์อย่าง

มากมาย เพราะการสวดมนต์เป็นการกล่าวถึงคุณงามความดีแห่ง

พระรัตนตรัย ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีคุณวิเศษเช่นไร พระธรรม

คำสอนของพระองค์มีคุณอย่างไร และพระสงฆ์อรหันต์อริยเจ้ามีคุณ

เช่นไร การสวดมนต์ด้วยความตั้งใจจนจิตเป็นสมาธิ แล้วใช้สติ

พิจารณาจนเกิดปัญญาและความรู้ความเข้าใจธรรมที่แท้

ประโยชน์สูงสุดของการสวดมนต์

นั่นคือ จะทำให้ท่านเป็นผลจนสำเร็จจนเป็นอรหันต์

ที่อาตมากล่าวเช่นนี้ มีหลักฐานปรากฏในพระธรรมคำสอนที่กล่าวไว้ว่า

โอกาสที่จะบรรลุธรรมเป็นอรหันต์ ๕ โอกาสด้วยกันคือ

๑. เมื่อฟังธรรมที่ถูกต้อง ซึ่งสอนเรื่องกรรม ศีล ภาวนา

๒. เมื่อแสดงธรรม คือ เมื่อเข้าใจถึงธรรมที่ถูกต้องแล้ว (รู้ได้เองว่าเป็นโสดาบัน) ก็พอใจจะสอนธรรม

ให้ผู้อื่นรู้ด้วย

๓. เมื่อสาธยายธรรม นั่นคือ การสวดมนต์อย่างมีสมาธิ

๔. เมื่อตรึกตรองธรรม หรือเพ่งธรรมอยู่ในขณะนั้น หมายความว่า รู้ถึงความหมายโดยรวมของธรรมนั้น

๕. เมื่อเจริญวิปัสสนาญาณ คือ พิจารณาทุกสิ่งด้วยธรรม โสดาบันขึ้นไปเท่านั้นจึงจะวิปัสสนาได้

การสวดมนต์ในตอนเช้าและตอนเย็นเป็นประเพณีที่ปฏิบัติกันมา ตั้งแต่สมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้า

ทรงประกาศพระพุทธศาสนา บรรดาพุทธบริษัททั้งหลายต่างพากันมาเข้าเฝ้าพระพุทธองค์

โดยแบ่งเวลาเป็น ๒ เวลา นั่นคือ ตอนเช้าเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อฟังธรรม

การฟังธรรมเป็นการชำระล้างจิตใจที่เศร้าหมองให้หมดไป

การสวดมนต์นับเป็นการดีพร้อมซึ่งประกอบไปด้วยองค์สาม นั่นคือ

๑. กาย มีอาการสงบเรียบร้อยและสำรวม

๒. มีความเคารพนบนอบต่อคุณพระรัตนตรัย

๓. วาจา เป็นการกล่าวถ้อยคำสรรญเสริญถึงพระคุณอันประเสริฐของพระรัตนตรัย

พร้อมเป็นการขอขมาในความผิดพลาดหากมี และเป็นการกล่าวสักการะเทอดทูนที่สูงยิ่ง

ซึ่งเราเรียกว่าเป็นการสร้างกุศล อาตมาภาพขอรับรองแก่ท่านทั้งหลายว่า

ถ้าหากบุคคลใดได้สวดมนต์เช้าแลเย็นไม่ขาดแล้ว บุคคลนั้นย่อมเข้าสู่แดนพระอรหันต์

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี )

Dhamma together:สติอัตโนมัติ สมาธิอัตโนมัติ

พระพุทธองค์ทรงชี้ทางแก่ผู้มาหา...มาฝึกกับพวกเราสิ...

การปฏิบัติไม่ยากนะ อยู่ที่เราทำตัวเราเอง วันๆ ฟุ้งซ่าน เที่ยวเล่นโน้นเล่นนี้ไปเรื่อย

ไม่มีเวลาดูตัวเอง สนใจเรียนรู้ตัวเองให้เยอะๆ ดูลงในร่างกาย ดูลงในจิตใจตัวเอง ฝึกบ่อยๆ

จนเป็นอัตโนมัติ อัตโนมัติเป็นอย่างไร ?



อัตโนมัติ หมายถึงว่ากายเราขยับ รู้สึกได้เอง

จิตใจเราเคลื่อนไหว รู้สึกได้เอง ไม่ได้เจตนารู้สึก

ถ้าฝึกจนกระทั่งมันรู้สึกเอง เนี่ย "สติอัตโนมัติ"

แล้วพอใจเราไหลไป เคลื่อนไป ไหลไปคิด สติก็รู้ทัน

"สมาธิอัตโนมัติ" ก็จะเกิดขึ้นนะ

ไม่ได้เจตนาให้จิตมีสมาธิ แต่สมาธิเกิดเอง

ทำไมสมาธิเกิดเอง ? เพราะจิตไม่ฟุ้งซ่าน

 

ทำไมจิตไม่ฟุ้งซ่าน ? เพราะมีสติรู้ทันความฟุ้งซ่านของจิต อย่าง จิตหนีไปคิดนี่ จิตฟุ้งซ่าน

เรารู้ทันว่าจิตหนีไปคิด สมาธิจะเกิดเองนะ นี่ "จิตรู้" จะเกิดขึ้นแทนที่ "จิตคิด" จิตคิด ดับไป

เกิดจิตรู้ขึ้นแทน 

ต้องฝึกจนเป็นสมาธิอัตโนมัติ หมายถึงจิตตั้งมั่นอยู่กับเนื้อกับตัวโดยไม่รักษา

ถ้ายังต้องรักษา (จิต) อยู่ ยังแข็งๆ เครียดๆ อยู่อย่างนี้ใช้ไม่ได้

งั้นเราฝึกนะ ให้ได้สติอัตโนมัติ ให้ได้สมาธิอัตโนมัติ

แล้วก็ดูรูปนามกายใจเขาทำงานไป

ต่อไปมันจะเริ่มเห็นว่าร่างกายไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา

จิตใจไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา

เห็นซ้ำแล้วซ้ำอีก จนมันรู้แจ้งแก่ใจว่า

ร่างกายนี้ใจนี้ไม่เที่ยงเป็นทุกข์อนัตตา ฝึกเรื่อยๆ..

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช

วัดสวนสันติธรรม

๒๓ มิถุนายน ๒๕๖๑

ไฟล์เสียงธรรม 610623B แผ่นที่ ๗๗

ดาวน์โหลดได้ที่ www.dhamma.com

Dhamma together:จิตรู้แจ้งทวนกระแส..

พระพุทธองค์ทรงชี้ทางแก่ผู้มาหา...มาฝึกกับพวกเราสิ...

จิตรู้แจ้งทวนกระแส.. ..

ผู้ภาวนา ให้น้อม ให้รวม เอาจิตใจดวงผู้รู้อยู่ มารู้อยู่ที่ลมเข้า ลมออก สังเกตไปสู่ดวงจิต

จุดสำคัญท่านต้องการเอาจิตใจดวงผู้รู้อยู่นี้ ธาตุลมนี้ ก็เป็นแต่ให้เป็นทาง เป็นที่สังเกต

จะได้รวม ได้สงบลงสู่ดวงจิตดวงใจดวงที่รู้อยู่นั่นเอง แต่ว่าถ้ายังจับจุดนี้ไม่ได้

ท่านก็ให้กำหนดลม ลมเข้าและลมออก หรือท่านให้กำหนด ความรู้สึก ทุกลมเข้าออก

เรียกว่า ดวงจิต ดวงวิญญาณ ดวงผู้รู้ มารู้สึกลมหายใจเข้าออก

เมื่อลมหายใจเข้าและออก ออกและเข้าอยู่ จิตก็มีความรู้สึกอยู่

และบริกรรมภาวนาคำว่า “พุท” ทุกลมหายใจเข้า และ “โธ” ทุกลมหายใจออกอยู่

รู้จักปล่อยวางเรื่องราวอารมณ์อันเป็นเรื่องภายนอกออกไปให้หมดสิ้น ตั้งจิตเจตนาในจิต

ในใจของตนให้มั่นคงลงไปเรียกว่าระลึกถึงพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นเครื่อง

กระตุ้นเตือนจิตใจของตน” การนึกพุทโธ นึกทุกลมหายใจเข้าไป นึกทุกลมหายใจออกมา

เพื่อจะได้ฝึกจิตใจให้อยู่เป็นหนึ่งเสียก่อน เมื่อพระพุทธเจ้าของเรานั่งภาวนาใต้ร่มไม้โพธิ์

พระองค์ก็บริกรรมภาวนา เมื่อพระองค์นั่งขัดสมาธิเพชรเสร็จเรียบร้อยแล้ว ตั้งสัตย์อธิษฐานลง

ไปว่าการนั่งสมาธิภาวนาในครั้งนี้ พระองค์จะไม่บุกไปมาในที่ใด ๆ จนกว่าจะได้ตรัสรู้เป็น

พระพุทธเจ้า แม้เลือดเนื้อเชื้อไขจะเหือดแห้งหายไปเหลือแต่หนังและกระดูกก็ตามที

ไม่ยอมลุก ท่านตั้งใจเด็ดเดี่ยวอย่างนั้น แล้วท่านก็เลือกอุบายภาวนา ว่าจะนึกอุบายธรรม

อันใด พระองค์ก็เลือกได้นึกลมหายใจเข้าออก เรียกว่า อานาปานสติกรรมฐาน ลมเข้าไป

พระองค์ก็มีสติตามรู้ อันนี้ว่าเป็นลมเข้าไป ลมออกมาพระองค์ก็มีสติรู้ว่านี้เป็นลมออกมา

ท่านระมัดระวังจิตใจเหมือนกับว่าเป็นพระปิดทวาร ทวารตาไม่ต้องดู ทวารหูไม่ต้องฟัง

อย่างอื่น ฟังแต่ลมหายใจเข้าออกเท่านั้น จมูก ลิ้น กาย ใจ ระวังจิตไม่ให้แล่นไปที่อื่น

เรียกว่าเป็นพระปิดทวาร ปิดทวารทั้งห้า ปิดทวารทั้งหก ปิดทวารทั้งสิบสอง พระองค์ภาวนา

แน่วแน่จนจิตใจออกไปจากตัวไม่ได้ ภายในปริมณฑลหนังหุ้มอยู่เป็นที่สุดรอบ พระองค์เอา

จิตใจอยู่ภายในหนังหุ้มเข้าไปได้หมด จนนานอย่างน้อยก็เรียกว่าเที่ยงคืน ตั้งแต่พลบค่ำ

จนกระทั่งเที่ยงคืน จิตใจของพระองค์ก็แน่วแน่เป็นดวงเดียว เป็นสมถกรรมฐานเต็มที่

เป็นสมาธิภาวนาเต็มที่ สมาธิอย่างต่ำสมาธิอย่างกลาง สมาธิอย่างสูง จิตใจของพระองค์

ก็ไม่ไปที่อื่น ภาวนาในใจอยู่ และพระองค์ก็กำหนดรูปนาม จนเห็นแจ้งในหลัก อนิจจัง ทุกขัง

อนัตตา จึงได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ละกิเลสตัดกิเลสราคะ โทสะ โมหะให้หมดสิ้นไป กิเลส

พันห้า ตัณหาร้อยแปด กิเลสมีมากเท่าไรในโลกนี้พระองค์ก็ละได้หมด ..ต่อมาก็สอนสาวก

สาวิกามีปัญจวัคคีย์ฤาษีทั้งห้า เป็นต้น พระองค์แสดงปฐมเทศนาธรรมจุกกัปปวัตนสูตร

แสดง อนัตตลักขณสูตร สองสูตรเท่านั้นแหละ ปัญจวัคคีย์ฤาษีทั้งห้าก็ได้สำเร็จเป็นพระ

อรหันตขีณาสพ ส่งสาวกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาทั่วโลก นั่นคือว่า พระพุทธเจ้าพระองค์

ตั้งใจภาวนาจริง ๆ แม้เราทุกคนขณะนี้ เราก็มาสู่สถานที่วิเวก สถานที่วิเวกเงียบสงัดในป่า

ในถ้ำ ในเขา ในที่วิเวกอย่างนี้เรียกว่าหาได้ยาก เสนาสนสัปปายะ อาหารสัปปายะ

บุคคลสัปปายะ ธรรมสัปปายะ แต่ผู้ภาวนาจริง ๆ นั้น ต้องตั้งจิตตั้งใจด้วย ตั้งใจให้เด็ดเดี่ยว

เหมือนพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าพระองค์ตั้งสัตย์อธิษฐานลงไป เอาชีวิตแลกเอา เอาชีวิต

เป็นเดิมพัน ถวายชีวิตจึงได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าได้ ยอมทำตามปฏิบัติตาม นึกภาวนาพุทโธ

ให้ได้ติดต่อกันไม่ให้ขาด แล้วให้นึกได้ทุกลมหายใจด้วย ตัวอย่างคือลมหายใจนี้ เมื่อเราคน

ใดหยุดลมหายใจไปเวลาใดเมื่อใดก็ตาย ไม่ได้เป็นคนอย่างที่เราทำอยู่ แต่ลมหายใจนี้เป็น

อัตโนมัติ แม้เจ้าตัวหลับมันก็หายใจทดแทนอย่างนั้น ความจริงลมหายใจไม่ใช่เราสูด มันเป็น

ปอดเป็นหัวใจเขาทำงานเอง จงภาวนารวมจิตรวมใจก็ให้ได้เหมือนลมหายใจเข้าออก ประทัง

ชีวิตมาได้หลายสิบปี เขาก็ยังไม่ตายหนีจากโลกนี้ ผู้ภาวนาทั้งหลาย ต้องรวมจิตใจเข้ามา

ภายในไม่ให้มันส่ายออกไปภายนอก สงบกายนี้สงบได้ง่าย คือ รูปร่างกายของเราทุกคน

ถ้าเรานั่งสมาธิเพชร นั่งภาวนาแล้วก็เป็นอันว่ารูปกายก็สงบ สงบเต็มที่ วาจาคำพูดก็เรียกว่า

สงบ แต่การสงบจิตนั้นจะต้องภาวนา ถ้าไม่ภาวนาไม่ดูจิตใจ เราสงบไม่ได้ คือจิตมันมีอารมณ์

เก่าแก่ที่ผ่านมาในอดีตชาติบ้าง ก็มาเป็นอารมณ์ในเวลาปัจจุบัน แล้วยังจะมีอารมณ์

อนาคตกาลข้างหน้าด้วย ก็มาเป็นอารมณ์ในปัจจุบันนี้ เมื่อภาวนาแล้วต้องระงับดับหมด

อดีตสิ่งใดที่มันล่วงเลยมาแล้วก็ไม่ต้องนึกคิด คิดถึง ตัดให้มันอยู่ในอดีตล่วงแล้ว อารมณ์ถึง

จงนึกจงน้อมภาวนาพุทโธ ในขณะปัจจุบัน ในขณะนี้ เดี๋ยวนี้ ส่วนจิตนั้นเมื่อย่นย่อเข้ามามี

๒ อาการ อาการหนึ่งคือจิตใจดวงผู้รู้ อยู่ในตัวคนเราทุกคน มีจิตใจดวงผู้รู้ครองในสังขาร

แต่ละบุคคล จิตใจดวงนี้นั้นเรียกว่าเป็นดวงจิตที่รู้อยู่ มีความรู้สึกอยู่ในตัวในกาย ในจิตใน

กายนี้ ไม่ว่าเราจะเอามือไปแตะต้องที่ไหนจนปลายผมก็ตาม ก็มีความรู้สึกเข้าไปถึงจิตใจ

ดวงผู้รู้นี้ นั่นแหละให้สังเกตเข้าไป สู่ดวงจิตที่รู้อยู่ ส่วนต่อจากดวงจิตผู้รู้ออกมาภายนอกท่าน

ให้ชื่อว่า สังขารจิต จิตปรุง จิตแต่ง จิตคิด จิตนึก คือมันเป็นเงาเป็นกิริยาอาการของจิต

มันต่อออกมาอีก มันงอกออกมา มันรั่วไหลออกมา อันนี้ท่านให้ละทิ้ง คือไม่ให้ตามออกมา

มันเข้ามันออกก็ยังมีจิตใจดวงผู้รู้ รู้ว่าจิตเราคิดออกไป เผลอไปลืมไป ไม่ต้องตามไป ละเสีย

วางเสีย ให้ทวนกระแสมาอยู่กับดวงจิตที่รู้อยู่ จิตผู้รู้คือว่ามันมีอยู่ตลอดเวลา กายสบายมันก็รู้

ร่างกายเราสบายวันนี้ เมื่อร่างกายมันไม่สบายมันก็รู้ รู้ว่ากายไม่สบาย เมื่อจิตมันสบายก็รู้

จิตไม่สบายก็รู้ จิตร้อนก็รู้ จิตหนาวก็รู้ นี่แหละท่านให้รวมจิตใจเข้ามาอยู่ภายในนี้ ไม่ต้องตาม

ไปภายนอก ตามไปภายนอกนั้นไม่มีที่หยุด เหมือนเราเดินไป เดินไปทั่วโลกในพื้นแผ่นดินนี้

ไม่ได้ตาย ตายก่อนก็ไม่ทั่ว จิตภาวนานี้ ท่านก็ไม่ให้ตามออกไป ท่านให้ทวนกระแสเข้ามาว่า

จิตใจดวงผู้รู้ ฟังอยู่ ได้ยินเสียงตรงไหนเราก็รู้ว่าอยู่ไหน สติระลึกได้ที่นั่น สมาธิจิตตั้งมั่นก็

ตั้งลงไปที่นี่ ปัญญาความรอบรู้ในกองสังขารก็รอบรู้อยู่ที่นี่ สงบตั้งมั่นอยู่ในตัว ในกาย ในจิต

ตรงที่จิตดวงผู้รู้อยู่ที่ไหนก็ที่นั่นแหละ จนจิตใจดวงนี้สงบระงับ รู้แจ้งเห็นจริงว่า นอกจากจิตใจ

ดวงผู้รู้ภายใน นอกนั้นออกไป ไม่เที่ยงแท้แน่นอนเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ขึ้นชื่อว่าสังขารทั้ง

หลาย มีความไม่เที่ยงอย่างนี้ จิตผู้รู้ ให้รู้ รู้แล้วอย่าได้หลงใหลไปกับอารมณ์กิเลส

ให้รวมจิตใจเข้าไปที่ตรงนี้ มันจะคิดไปไหน ใกล้ไกลไม่ต้องไปตามมันไป ตามรู้อยู่กับที่จิต

รู้อยู่ จิตรู้ไปไม่เอาละทิ้ง เอาจิตที่รู้อยู่ คำว่าเอาจิตที่รู้อยู่นั้นคือว่ามันมีอยู่แล้ว


ความจริงจิตของคนเราจริง ๆ มันไม่ได้ไปไหน คิดไป ปรุงไป

อันนั้นเป็นเรื่องสังขาร มันปรุงมันแต่งไปเอง เป็นเรื่องสังขาร

เป็นเรื่องสัญญาอารมณ์ เป็นเรื่องกิเลสที่มันดิ้นรนวุ่นวาย

กามตัณหามันไป เมื่อจิตใจผู้ภาวนาไม่หลงไปตามไป มันก็

ดับไปเอง ไม่มีใครส่งเสริมต่อเติมมันก็ดับ

แต่จิตผู้ใดหลงไป ส่งเสริมต่อเติมให้มันก็ไม่มีที่จบที่สิ้น เป็นกามตัณหา ภวตัณหา

วิภวตัณหา ไม่มีที่จบที่สิ้น ละวางเสีย หยุดเสีย สงบเสียได้ ขณะนี้เวลานี้มันก็มีเท่านี้ นั่งอยู่

ก็พุทโธจิตใจดวงผู้รู้อยู่อย่างนี้ ยืนอยู่ก็พุทโธจิตดวงผู้รู้นี้ เดินไปมาก็จิตดวงนี้ มานั่งมานอนก็

จิตดวงนี้แหละ ก็ไม่ต้องหาที่ไหนแล้ว รวมกำลังตั้งมั่นรวมไปในจิตใจดวงผู้รู้อยู่ตลอดเวลา..

หลวงปู่สิม พุทธาจาโร..

dhamma together:อยู่กับธรรมะ

พระพุทธองค์ทรงชี้ทางแก่ผู้มาหา...มาฝึกกับพวกเราสิ...




ครูบาอาจารย์ แต่ละองค์ๆ เห็นท่านนะ ไม่เหมือนฆราวาส

ฆราวาสอายุเยอะขึ้น แค่เกษียณอายุก็แย่แล้วหล่ะ

เกษียณอายุใจก็เศร้าหมองแล้ว เคยมีอำนาจ ก็ไม่มี รายได้

ก็ลดลง อะไรอย่างนี้ ลำบาก กลุ้มใจ กลุ้มใจแล้วก็เลยคิดมาก

ทำไมลูกไม่มาเยี่ยม หลานไม่มาเยี่ยม โกรธมันอีก พอมันมา

ก็ด่ามัน มันก็ยิ่งกลัวหนักใหญ่ มันไม่มาเลย คราวนี้ ไม่มาก็

เที่ยวด่ามัน ลับหลังอีก ใจเต็มไปด้วยโทสะ ไม่มีความสุข

พวกเราเตรียมตัวไว้นะ พวกเราวันข้างหน้า ตอนที่เราแก่ มันไม่มีแล้ว ระบบครอบครัวแบบโบราณ มันอยู่

ตัวคนเดียวแทบทั้งนั้น อยู่กันสองคนบ้าง อยู่คนเดียวบ้าง วันข้างหน้า เราจะเหงา เราจะว้าเหว่ 

"ถ้าเราภาวนาไม่เป็น" เหมือนพวกฝรั่งแก่ๆ ถึงมีเงินก็เหงา คุยกับหมา คุยกับแมวไปวันๆ คุยกับคนไม่ได้

ไม่มีใครคุยด้วย ฝรั่งมันต่างคนต่างอยู่ วันข้างหน้า พวกเราก็จะเหงามากนะ

"ต้องฝึก" ฝึกการอยู่คนเดียวให้ได้ ที่จริงเราไม่ได้อยู่คนเดียว

เราอยู่กับธรรมะได้ "หายใจออกรู้สึกตัว" "หายใจเข้ารู้สึกตัว"

เราอยู่กับลมหายใจ เราก็มีความสุขของเราแล้วหล่ะ จะเจ็บจะป่วย จะแก่ จะทุพพลภาพ หรือ จะยากจนเราก็มี

ความสุขอยู่ หายใจอยู่ ก็มีความสุขอยู่แล้วลมหายใจนี่ไม่ได้ซื้อใครมา พยายามหายใจนะ อย่าพยายามหยุด

เร็วนักหายใจไป หายใจไป ก็มีความสุขไปเราก็อยู่ของเราได้นะ บางคนหวังว่ามีลูก ลูกจะเลี้ยง

หลวงพ่อสังเกตมาเยอะนะ คนที่ต้องพึ่งคนอื่นจริงๆ ถ้าไม่ป่วย ถ้าอยู่ไปตาธรรมชาตินี่ อายุ 90 ปี ก็ยังช่วย

ตัวเองได้เลย วันเวลาที่ต้องพึ่งคนอื่นจริงๆ ไม่มากนักหรอก บางคนเลี้ยงลูกไว้ หวังว่าจะพึ่งนะ ลูกมันตายก่อน

เอาหลานมาให้เราเลี้ยงต่อ อย่างนี้ก็มีนะ งั้นความคิดว่าจะไปพึ่งคนอื่น พึ่งสิ่งอื่นอะไรอย่างนี้ … พึ่งยาก .....

"เราพึ่งธรรมะของเรา" อย่างน้อยร่างกายเราลำบากเราอดอยากยากจน

ใจเราผ่องใสใจเรามีความสุข  เราอยู่ของเราได้ช่วยตัวเองได้

ไม่น้อยเนื้อต่ำใจไม่เสียใจ ไม่ซึมเศร้านะ เรามีความสุข มันอิ่มอกอิ่มใจว่าชีวิตนี้ ไม่ได้สูญเปล่า

เตรียมไว้เลยนะ เตรียมตัวไว้ คนรุ่นเราได้เจอแน่ๆ เลย การที่จะต้องอยู่แบบคนเดียวนี่ ฝีกไว้นะ

ค่อยๆ ฝึกสมาธิ ฝึกสติเอาไว้ให้ดีแยกธาตุ แยกขันธ์ให้ชำนาญไม่ว่าอะไรเกิดขึ้นในชีวิตจะมีความสุขอยู่ได้

มีความสุขอยู่กับปัจจุบันไม่ใช่คร่ำครวญถึงความสุขในอดีตไม่ได้เพ้อฝันถึงความสุขในอนาคต

มีความสุขในขณะนี้แหละไม่ต้องรอว่าตายแล้ว ไปนิพพานแล้วมีความสุขเนี่ยฝึกไปนะ ค่อยๆ ฝึก

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชโช

Dhamma together:ภาวนา....กว้างขวาง ลึกซึ้งและเข้าใจ

พระพุทธองค์ทรงชี้ทางแก่ผู้มาหา...มาฝึกกับพวกเราสิ...

ความหมายของคำว่าภาวนากว้างขวางและลึกซึ้งกว่าที่คนทั่วไปเข้าใจ การภาวนามี 4 อย่าง


1. การพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับโลกฝ่ายวัตถุ

เริ่มตั้งแต่การดูแลวัตถุที่ใกล้ชิดที่สุด คือร่างกายของเรานั่นเอง

ถ้าเรากินให้พอดี พักผ่อนให้พอดี ออกกำลังให้พอดี เรียกว่ารู้จัก

ภาวนา บังคับร่างกายได้ นอกจากนั้นต้องรู้จักการปฎิบัติต่อวัตถุ

รอบตัว เช่น ทรัพย์สมบัติเงินทอง เทคโนโลยี การสื่อสาร ฯลฯ

ตลอดจนถึงการปฏิบัติต่อธรรมชาติสิ่งแวดล้อมให้ถูกต้อง



 

2. การพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับโลกฝ่ายสังคม

รวมถึงการใช้ศีลธรรม ฝึกหัดพฤติกรรมให้พ้นจากการเบียดเบียน

การพัฒนาความสามารถในการสื่อสารและมีส่วนร่วมในกิจกรรม

ประเภทจิตอาสาเพื่อส่วนรว



3. การพัฒนาจิตใจ

 

หนึ่งการป้องกันและปล่อยวางสิ่งเศร้าหมองทั้งหลาย

และสองการปลูกฝังและทำให้ยิ่ง ซึ่งคุณธรรมทั้งหลาย



4. การพัฒนาปัญญา

 

รู้จักคิดวิเคราะห์คิดสร้างสรรค์ในเวลาอันสมควร

รู้จักคิดในทางที่ระงับกิเลสและส่งเสริมคุณธรรม


และสุดท้าย

ทำความเข้าใจในไตรลักษณ์ คืออนิจจังทุกขัง อนัตตา

เพื่อนำไปสู่การหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงในที่สุด

พระอาจารย์ชยสาโร

Dhamma together:เรื่องวุ่นๆกับเรื่องไร้สาระ

พระพุทธองค์ทรงชี้ทางแก่ผู้มาหา...มาฝึกกับพวกเราสิ...


เดี๋ยวนี้ใคร ๆ ก็บ่นว่า “วุ่น” มากขึ้น หาเวลาว่างได้น้อยลง โดยเฉพาะคนที่เป็นพ่อแม่ในกรุงเทพ ฯ

ต้องตื่นแต่เช้ามืดเพื่อพาลูกไปโรงเรียน หลายคนต้องกินข้าวบนรถ จะได้ไม่ต้องเจอกับจราจรที่ใกล้จลาจล

ช่วงที่อยู่สำนักงานก็มีงานเต็มมือ กว่าจะกลับบ้านก็ค่ำมืด แล้วยังต้องทำอะไรอีกหลายอย่าง กว่าจะ

เข้านอนก็เกือบเที่ยงคืน เวลาแต่ละวันผ่านไปอย่างรวดเร็ว โดยมีอีกหลายอย่างที่ยังไม่ได้ทำ เช่น พูดคุย

กับลูก ดูแลต้นไม้ ออกกำลังกาย ฯลฯ นึกดูก็น่าแปลกที่ผู้คนนับวันจะมีเวลาว่างน้อยลง ทั้ง ๆ ที่มี

เทคโนโลยีช่วยประหยัดเวลามากมาย อาทิ หม้อหุงข้าว เครื่องซักผ้า รถยนต์ และอาหารสำเร็จรูป ทั้งหมด

นี้ไม่เพียงช่วยให้ภารกิจแต่ละอย่างเสร็จสิ้นอย่างรวดเร็วเท่านั้น หากยังช่วยให้เราสามารถทำหลายอย่างไป

พร้อม ๆ กัน เช่น แปรงฟัน ซักผ้า หุงข้าว อุ่นอาหาร และฟังวิทยุ ในเวลาเดียวกัน แต่แล้วทำไมเราจึงกลับ

วุ่นกว่าเดิม และมีแนวโน้มว่าจะวุ่นมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย ขณะที่ชาวบ้านในชนบท ซึ่งไม่ค่อยมีเทคโนโลยี

เหล่านี้ กลับมีเวลาว่างมากกว่าเรา ทั้ง ๆ ที่กิจวัตรแต่ละอย่างใช้เวลามากกว่า แค่หุงข้าวอย่างเดียวก็ใช้

เวลาร่วม ๒๐ นาที มักมีคำอธิบายว่าสาเหตุที่คนสมัยนี้มีเวลาว่างน้อยลง เพราะต้องแข่งขันกันทำมาหากิน

มากขึ้น นอกจากข้าวของจะแพงขึ้นแล้ว ผู้คนก็มากขึ้นด้วย จำนวนคนแข่งขันที่มีมากขึ้นก็เป็นสาเหตุเดียว

กับที่ทำให้เด็กสมัยนี้ต้องเรียนหนังสือมากขึ้น เสาร์อาทิตย์ก็ไม่เว้น จะทำอะไรก็ต้องเสียเวลาไปกับการรอ

คอยเพราะหลายคนมีเป้าหมายเดียวกับเรา เช่น เข้าคิวซื้อของ หรือติดไฟแดงบนท้องถนน อย่างไรก็ตาม

นั่นคงไม่ใช่สาเหตุเดียว เพราะถึงแม้จะอยู่บ้าน ไม่ต้องออกไปแข่งขันกับใคร เพราะเป็นวันหยุด เราก็ยังวุ่น

อยู่ดี แม้จะน้อยกว่าวันธรรมดาหรือยามที่ต้องออกไปนอกบ้านก็ตาม น่าคิดว่าอะไรทำให้เราวุ่นทั้ง ๆ ที่ไม่

ได้แข่งขันกับใคร ‪#‎วุ่นเรื่องเสพ‬ บ่อยครั้งสิ่งที่ทำให้เราวุ่นนั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอาชีพการงานเลย แต่เป็น

เรื่องการเสพการบริโภคมากกว่า เดี๋ยวนี้เรามีสิ่งเสพสิ่งบริโภคมากมาย ซึ่งไม่จำเป็นต้องบริโภคทางปาก

เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการบริโภคทางตาและทางหูด้วย คงยากที่จะปฏิเสธว่า โทรทัศน์ ดีวีดี ซีดี นับวันจะ

แย่งชิงเวลาของเรา(และครอบครัว) ไปมากขึ้นทุกที และเดี๋ยวนี้ถ้าไม่พูดถึงโทรศัพท์มือถือ และ

อินเตอร์เน็ต ก็เท่ากับมองข้ามตัวการสำคัญไป จำเพาะวัยรุ่นไทยวันหนึ่ง ๆ เสียเวลาไปกับโทรทัศน์

โทรศัพท์มือถือ และอินเตอร์เน็ต รวมแล้วประมาณ ๕ ชั่วโมง ผู้ใหญ่แม้จะใช้เวลาน้อยกว่า แต่ก็เสียเวลา

ไปกับเทคโนโลยีเหล่านี้มากขึ้นทุกที



นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมอื่น ๆ ที่พยายามแย่งชิงเวลาจากผู้คน

อาทิ การช็อปปิ้งหรือเที่ยวห้าง การดูหนังฟังคอนเสิร์ต กิจกรรม

เหล่านี้ได้พัฒนาเทคนิคการดึงดูดใจจนยากที่จะปฏิเสธได้หากเผลอ

เข้าไปเฉียดกราย กิจกรรมเหล่านี้และเทคโนโลยี (ซึ่งมีชื่อไพเราะว่า

“สารสนเทศ”) มีส่วนไม่น้อยในการทำให้คนสมัยนี้ดูเหมือนจะวุ่น

มากขึ้น ไม่ว่าจะทำอะไรก็ต้องรีบทำให้เสร็จไว ๆ จะได้มีเวลาสำหรับ

ารเสพผ่านกิจกรรมและเทคโนโลยีดังกล่าว บางครั้งก็ต้องอดหลับ

อดนอนถ้าไม่เชื่อก็คอยสังเกตพฤติกรรมของผู้คนในช่วงเทศกาล

ฟุตบอลโลก

พระไพศาล วิสาโล

Dhamma together:สิ่งที่เป็นโทษเป็นความหม่นหมอง เศร้าหมองอย่างนี้แล้ว ก็จะไม่เก็บเอาไว้

พระพุทธองค์ทรงชี้ทางแก่ผู้มาหา...มาฝึกกับพวกเราสิ...



เค้ามาด่าว่าเรา เก็บไว้สำหรับโกรธ สำหรับอาฆาต

พยาบาทให้นานนาน นี่มันเป็นเรื่องของคนโง่ ถ้าคนฉลาด

ก็รีบสลัดออกไป สลัดออกไป สลัดออกไปไม่เก็บเอาไว้

เค้าด่าจริงหรือเค้าด่าเท็จก็เหมือนกันแหละ ไม่เก็บเอาไว้

เค้าด่าจริงคือเป็นความจริงก็ควรให้เค้าด่า เราก็รับรู้

แล้วไม่เก็บความโกรธอันนี้เอาไว้ เค้าด่าไม่จริงเค้าแกล้ง

ด่าก็ไม่เก็บเอาไว้ก็สลัดออกไป เรียกว่าสิ่งที่เป็นโทษเป็น

ความหม่นหมอง เศร้าหมองอย่างนี้แล้ว ก็จะไม่เก็บเอาไว้

พุทธทาสภิกขุ

#หอจดหมายเหตุพุทธทาส #BIA

Dhqmmq together:ความสงบ...ยังไม่ใช่คำตอบสุดท้าย...

พระพุทธองค์ทรงชี้ทางแก่ผู้มาหา...มาฝึกกับพวกเราสิ...



เมื่อถึงความสงบแล้วยังไม่จบนะ ภพยังไม่สิ้น ชาติยังมีอยู่

พรหมจรรย์ไม่จบ ที่มันไม่จบก็เพราะยังมีทุกข์อยู่

ให้เอาตัวสมถะ ตัวสงบนี่พิจารณาต่อไปค้นหาเหตุผล

จนกระทั่งจิตไม่ติดในความสงบ เพราะความสงบก็เป็นสังขาร

อันหนึ่ง ก็เป็นสมมุติ ก็เป็นบัญญัติอีก ที่ติดอยู่นี้ก็ติดสมมุติ

ติดบัญญัติ เมื่อติดสมมุติติดบัญญัติ ก็ติดภพติดชาติ

ภพชาติก็คือความดีใจในความสงบนั่นแหละ

เมื่อหายความฟุ้งซ่าน ก็ติดความสงบ ก็เป็นภพอีก

เกิดอยู่อย่างนี้ ภพชาติเกิดขึ้นมา ทำไมพระพุทธเจ้าจะไม่รู้

ท่านเจ้าคุณนรรัตน์ราชมานิต  (ธมฺมวิตกฺโก ภิกฺขุ)

 

Dhamma together:ทำสติให้มากจนเป็นสมาธิ

พระพุทธองค์ทรงชี้ทางแก่ผู้มาหา...มาฝึกกับพวกเราสิ...


หลวงพ่อชาท่านเปรียบเทียบสติกับน้ำที่หยดลงมาจาก

ก๊อกน้ำ ท่านบอกว่า เราทำสติแรกๆ สติจะเกิดยาก

เกิดสติเพียงครู่เดียว จิตก็เผลอ เมื่อได้สติกลับมาใหม่

ครู่เดียวก็หาย ท่านบอกว่าเหมือนน้ำที่หยดลงมาจาก

ก๊อกน้ำทีละหยด ทีละหยด ถ้าทำสติมากขึ้น ความถี่

มากขึ้นก็เหมือนกับหยดน้ำที่หยด หยด หยด ลงมา

ถี่ขึ้น และถ้าทำสติให้มากจนเป็นสมาธิ ท่านเทียบกับ

หยดน้ำที่กลายเป็นกระแสน้ำ


ดังนั้น สติเริ่มต้น สติอยู่ ไม่ได้ เพียงครู่เดียวก็ฟุ้งซ่านไปคิดอย่างอื่น เมื่อกลับมาอยู่กับ

ปัจจุบัน มีสติครู่เดียวก็ไปอีก เมื่อทำมากขึ้น สติก็ถี่มากขึ้น ช่วงลืมช่วงเผลอก็น้อยลง

สุดท้าย สติเป็นกระแส เรียกว่า สมาธิ

พระอาจารย์ชยสาโร

Dhamma together:ถ้าเราทำเรื่องต่าง ๆ ในขณะที่ยังไม่ตายถูกต้อง; ต่อตายแล้วมันก็เป็นเรื่องถูกต้องไปหมด

พระพุทธองค์ทรงชี้ทางแก่ผู้มาหา...มาฝึกกับพวกเราสิ...



อริยสัจข้อที่สามที่เรียกว่าความดับทุกข์ คนมักจะเข้าใจว่า

ตายไป เข้าโลงไปแล้ว สิ้นสุดกันทีถึงจะเป็นเรื่อง

ความดับทุกข์ พระพุทธเจ้าได้ตรัสพระพุทธภาษิตนี้

หมายถึงการดับตัณหานั้นเสียเป็นความดับทุกข์ฉะนั้น

ตัณหาดับที่ไหน มีความดับทุกข์ที่นั่น ตัณหาดับไปเมื่อไร

มีความดับทุกข์เมื่อนั้น ดังนั้นพอมีความทุกข์เกิดขึ้นเราจง

มีสติสัมปชัญญะดับทุกข์ทันที แล้วมันก็มีความดับทุกข์ที่

นั่น มีนิพพานในลักษณะอย่างนี้ที่นั่น ไม่ใช่ต่อตายแล้ว

เรื่องตายแล้วไม่ให้เอามาพูดกัน เรื่องหลังจากตายแล้ว

นั้นมันขึ้นอยู่กับเรื่องที่ยังไม่ตาย


ถ้าเราทำเรื่องต่าง ๆ ในขณะที่ยังไม่ตายถูกต้อง

ต่อตายแล้วมันก็เป็นเรื่องถูกต้องไปหมด

ถ้าเราทำเรื่องที่ยังเป็น ๆ อยู่นี้ผิด ตายแล้วมันก็ผิดมันมีเรื่องผิด. ฉะนั้นเราจงสนใจทำให้

ถูกที่สุดในที่นี่และเดี๋ยวนี้แล้วมันก็คุ้มไปหมด คำว่าดับทุกข์นี้จะเรียกว่านิพพานก็ได้ แต่มี

หลายความหมาย นิพพานในอันดับชิมลอง ในอันดับตัวอย่าง ในอันดับปัจจุบันทันตาเห็นนี้ก็มี

มีชื่อเรียกเหมือนกัน แต่ว่านิพพานในความหมายสูงสุดก็คือดับกิเลสหรือดับทุกข์สิ้นเชิงเป็น

พระอรหันต์.

พุทธทาสภิกขุ ‪

#‎ถ้าวันนี้ถูกต้องก็ไม่ต้องกลัวพรุ่งนี้‬ ‪

#‎จดหมายเหตุพุทธทาส‬

Dhamma together:ชีวิตนี้สำคัญนัก...จักต้องหนีกรรมให้พ้น...

พระพุทธองค์ทรงชี้ทางแก่ผู้มาหา...มาฝึกกับพวกเราสิ...



ชีวิตนี้แม้น้อยนัก แต่ก็เป็นความสำคัญนัก สำคัญยิ่งกว่า

ชีวิตในอดีดและชีวิตในอนาคต ที่ว่าชีวิตนี้...ก็คือชีวิตใน

ชาติปัจจุบันนี้สำคัญ ก็เพราะในชีวิตนี้ เราสามารถหนีกรรม

ที่ไม่ดีที่ทำไว้ในอดีตได้ และสามารถเตรียมสร้างอนาคตให้

ดีเลิศเพียงใดก็ได้ หรือตกต่ำเพียงใดก็ได้

ชีวิตในอดีตที่ล่วงเลยไปแล้ว ทำอะไรอีกไม่ได้อีกต่อไป

ชีวิตในอนาคตก็ยังไม่ถึง ยังทำอะไรไม่ได้ เช่นนี้จึงกล่าวว่า

"ชีวิตนี้สำคัญนัก"

พึงใช้ชีวิตนี้ให้เป็นประโยชน์ ให้สมกับความสำคัญของชีวิตนี้ ชีวิตนี้น้อยนัก แต่มีความสำคัญ

นักด้วยเหมือนกัน ถ้าชีวิตนี้ไม่วิ่งหนีกรรมที่ไม่ดีในอดีต ชีวิตนี้ก็จะได้รับผลกรรมไม่ดี ถ้าวิ่งหนี

ก็จะพ้นได้ กรรมไม่ดีจะตามทันหรือไม่ขึ้นอยู่กับชีวิตนี้ ยิ่งกว่านั้น ถ้ากรรมตามทันในชีวิตนี้

ก็จะตามต่อไปได้อีกในอนาคต กรรมไม่ดีที่ทำไว้ในอดีตมากมาย อาจจะตามไม่ทันตลอดไป

ก็ได้ ถ้าทำชาตินี้ให้ดีที่สุด

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก

Dhamma together:การบอกและย้ำเตือนความจริง ช่วยเตือนใจไม่ให้เพลิดเพลินในความสุขอันเป็นของชั่วคราว

พระพุทธองค์ทรงชี้ทางแก่ผู้มาหา...มาฝึกกับพวกเราสิ...



พุทธศาสนาเป็นมากกว่าสิ่งปลอบประโลมใจ ผู้คนเข้าวัดหรือ

นับถือพุทธศาสนาด้วยเหตุผลที่หลากหลาย แต่เหตุผลหลัก

ย่อมได้แก่การแสวงหาสิ่งปลอบประโลมใจหรือให้ความหวัง

แก่ชีวิต หลายคนเข้าวัดเพื่อหวังว่าบุญกุศลจะช่วยเสริมสร้าง

สิริมงคลหรือปัดเป่าอันตราย บ้างก็มาสะเดาะเคราะห์เพราะ

หวังว่าโรคร้าย หนี้สิน และเคราะห์กรรมทั้งปวงจะมลายไป

ประสบแต่ความมั่งมีศรีสุข ได้รับความสำเร็จ

ส่วนคนที่สูญ เสียคนรัก ก็หวังว่าทานที่ถวายแก่สงฆ์จะช่วยให้ผู้ล่วงลับไปสู่สุคติ ไม่เพียงการ

มาวัดจะช่วยคลายความเศร้าโศกเท่านั้น หากยังช่วยบรรเทาความรู้สึกผิดที่เคยทำไม่ดีกับ

คนรัก ด้วยการทำบุญอุทิศให้แก่เขา ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ คนรัก หรือลูกในท้อง คนจำนวน

ไม่น้อยมาวัดเพราะปรารถนาน้ำมนต์และวัตถุมงคลเพื่อเป็นที่พึ่งทางใจ ด้วยความเชื่อว่าได้มา

แล้วจะแคล้วคลาดจากอันตราย ประสบความสุขความเจริญ มีหลายคนที่ไม่เชื่อเรื่องเหล่านี้

แต่แค่มาวัด ได้กราบพระพุทธรูป เห็นพระพักตร์อันสงบอิ่มเอบ ความร้อนใจก็บรรเทาลง

เกิดกำลังใจในการสู้ชีวิตต่อไป กล่าวได้ว่าหน้าที่หลักประการหนึ่งของพุทธศาสนาในสังคม

ไทยก็คือ การให้ความหวังและกำลังใจ รวมทั้งช่วยให้สบายใจ นี้คือแรงดึงดูดสำคัญที่ทำให้

ผู้คนเข้าหาวัดและนับถือพุทธศาสนา อย่างไรก็ตามพุทธศาสนายังมีบทบาทหลักอีกประการ

หนึ่ง ที่มิอาจมองข้ามได้เลย นั่นคือ การกระตุก เขย่า และกระทุ้งจิตใจของผู้คน เพื่อให้พ้น

จากความหลงและความประมาทด้วย ในขณะที่พุทธศาสนาให้ความหวังแก่เราว่า

เมื่อทำความดี หมั่นสร้างบุญกุศล ก็จะประสบความสุขความเจริญ อีกด้านหนึ่งพุทธศาสนา

ก็เตือนเราซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า ความสุขความเจริญนั้นไม่เที่ยง ลาภและยศนั้นมีแล้วก็หมด

มาแล้วก็ไป ความมั่งมี อำนาจ และความสำเร็จ แม้ให้ความสุขแก่เราก็จริง แต่ก็เจือไปด้วย

ทุกข์ ทำให้เดือดเนื้อร้อนใจหากยึดติดถือมั่น เราจึงไม่ควรยึดเป็นสรณะ ในขณะที่น้ำมนต์และ

วัตถุมงคลที่ได้จากวัดให้ความหวังว่าเราจะหายป่วยหายไข้ อีกด้านหนึ่งพุทธศาสนาก็ย้ำว่า

เราทุกคนหนีความแก่ ความเจ็บ และความตายไม่พ้น ชีวิตที่ผาสุก ร่ำรวย พรั่งพร้อมด้วยวัตถุ

ในที่สุดก็จะต้องจบสิ้น มีมากมายเท่าไรก็เอาไปไม่ได้เลยแม้แต่สลึงเดียว ใช่แต่เท่านั้นขณะที่

ชีวิตยังไม่สิ้น เรายังต้องพบกับความพลัดพรากสูญเสีย ไม่ว่าคนรักของรัก ล้วนอยู่กับเราเพียง

ชั่วคราวเท่านั้น พุทธศาสนาไม่เพียงแต่บอกเราว่า ทุกอย่างล้วนไม่เที่ยง หากยังย้ำอีกว่า

ทุกอย่างล้วนเป็นทุกข์ คือนอกจากจะไม่คงทน ต้องเสื่อมดับไปแล้ว ยังบีบคั้นแก่ผู้ยึดถือ

เป็นเสมือนของร้อนหรือคบไฟที่กำไว้ได้ไม่นานก็ต้องรีบปล่อย ใช่แต่เท่านั้นความทุกข์ยังอยู่

กับเราตลอดเวลาและรอเราอยู่ข้างหน้าด้วย “เราทั้งหลายเป็นผู้ที่ถูกความทุกข์หยั่งเอาแล้ว

เป็นผู้ที่มีความทุกข์เป็นเบื้องหน้าแล้ว” คือข้อความตอนหนึ่งในบทสวดทำวัตรเช้าที่ชาวพุทธ

จำนวนมากคุ้นเคย นี้คือคำสอนของพุทธศาสนาที่ตีแผ่ความจริงให้เราตระหนัก แต่เป็น

ความจริงที่คนส่วนใหญ่ไม่อยากฟัง เพราะสั่นคลอนความรู้สึกของผู้คนที่ปรารถนาจะให้ชีวิตนี้

ยั่งยืน เต็มไปด้วยความสุข อยากให้ของรักคนรักอยู่กับเราไปตลอดชั่วฟ้าดินสลาย ความจริง

ดังกล่าวเป็นสิ่งที่เสียดแทงหรือสั่นคลอนความรู้สึกของผู้คน จนไม่อยากได้ยิน ยิ่งกว่านั้น

พุทธศาสนายังย้ำเตือนว่า ไม่มีอะไรที่ยึดมั่นเป็นตัวเราของเราได้เลย แม้แต่ตัวเราหรือ “ตัวกู”

ก็ไม่มีจริง เพราะทุกอย่างเป็นอนัตตาทั้งนั้น ไม่ว่าใครก็ตามเพียงแค่ได้ยินว่า ตัวกู ไม่เที่ยง

ต้องตาย ก็ไม่สบายใจแล้ว ยิ่งพระมาบอกว่า ตัวกู ไม่มีจริง เป็นแค่มายาภาพ ก็ยิ่งรับไม่ได้

อย่างไรก็ตามการบอกและย้ำเตือนความจริงเหล่านี้คือหน้าที่สำคัญที่สุดของพุทธศาสนา

เพราะช่วยเตือนใจไม่ให้เพลิดเพลินในความสุขอันเป็นของชั่วคราว หรือติดยึดในยศ ทรัพย์

อำนาจ จนกลายเป็นทาสของมัน และพร้อมที่จะทำชั่วเพื่อมัน จนแม้ยอมตายเพื่อมัน

พระไพศาล วิสาโล

Dhamma together:พิจารณาทุกขเวทนาในวาระสุดท้าย..

พระพุทธองค์ทรงชี้ทางแก่ผู้มาหา...มาฝึกกับพวกเราสิ...



พิจารณาทุกขเวทนาในวาระสุดท้าย.. จิตไม่เคยตาย

เราไม่ต้องวิตกวิจารณ์ เราไม่ต้องสะทกสะท้านว่าจิตจะตาย

อะไรจะเกิดก็เกิดเถอะ จิตเป็นผู้สามารถรับทราบได้ทุกสิ่ง

ทุกอย่างบรรดาที่เกิดขึ้นกับจิต ไม่มีอะไรที่จะแหลมคม

ยิ่งกว่าจิตที่คอยรับรู้อยู่ตลอดเวลา เอ้า ทุกขเวทนาเกิดขึ้น

มากน้อยเพียงไร จิตก็รู้ว่าทุกขเวทนาตอนนี้เกิดขึ้นมาก

เอ้าดับไปก็ดับไปเรื่องทุกข์ แต่จิตไม่ดับ อะไรจะเกิดขึ้น

มากน้อย ให้เห็นความจริงของมัน 

อย่าลืมตัวว่าจิตเป็นผู้รู้ เป็นนักรู้แท้ๆ ไม่ใช่นักหลบ หลบความรู้จนกลายเป็นไม่รู้ขึ้นมา นั่นเป็น

เรื่อง “อวิชชา” อย่านำมาใช้ ให้รู้เกิดขึ้นมากน้อย ให้รู้ตามความจริงของมันเฉย ๆ

การพิจารณาทุกขเวทนาเราก็ทราบ ทุกข์เราก็ทราบว่าทุกข์ ผู้ทราบว่าทุกข์นั้นคือจิต

ความทุกข์นั้นเป็นสภาพอันหนึ่ง ผู้ทราบว่าทุกข์นั้นเป็นสภาพอันหนึ่ง ไม่ใช่อันเดียวกัน

โดยหลักความจริงแล้วเป็นอย่างนี้

จงพิจารณาให้เห็นความจริงของทุกข์นี้ จะได้เห็นความจริงของ “จิต”

ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย..

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน..

Dhamma together:ทำไมจึงต้องภาวนาพุทโธ

พระพุทธองค์ทรงชี้ทางแก่ผู้มาหา...มาฝึกกับพวกเราสิ...



ที่ให้ภาวนา พุทโธนั้น เพราะพุทโธ เป็นกิริยาของใจ

ถ้าเราเขียนเป็นตัวหนังสือเราจะเขียน

พ-พาน-สระอุ-ท-ทหาร-สระโอ ธ-ธง อ่านว่า พุทโธ

อันนี้เป็นเพียงแต่คำพูด เป็นชื่อของคุณธรรมชนิดหนึ่ง

ซึ่งเมื่อจิตภาวนาพุทโธแล้วมันสงบวูบลงไปนิ่ง สว่าง รู้

ตื่น เบิกบาน พอหลังจากคำว่า พุทโธ มันก็หายไปแล้ว

ทำไมมันจึงหายไป

เพราะจิตมันถึงพุทโธแล้ว จิตกลาย เป็นจิตพุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เป็นคุณธรรมที่ทำจิต

ให้เป็นพุทธะ เกิดขึ้นในจิตของท่านผู้ภาวนา พอหลังจากนั้นจิตของเราจะหยุดนึกคำว่าพุทโธ

แล้วก็ไปนิ่ง รู้ ตื่น เบิกบาน สว่างไสว กายเบา จิตเบา กายสงบ จิตสงบ ยังแถมมีปีติ มีความ

สุขอย่างบอกไม่ถูก อันนี้มันเป็นพุทธะ พุทโธ

โดยธรรมชาติเกิดขึ้นที่จิตแล้ว พุทโธ แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เป็นกิริยาของจิตมันใกล้กับ

ความจริง แล้วทำไมเราจึงมาพร่ำบ่น พุทโธๆ ๆ ในขณะที่จิตเราไม่เป็นเช่นนั้น ที่เราต้องมา

บ่นว่า พุทโธ นั่นก็เพราะว่า เราต้องการจะพบพุทโธ ในขณะที่พุทโธยังไม่เกิดขึ้นกับจิตนั้นเรา

ก็ต้องท่อง พุทโธๆ ๆ ๆ เหมือนกับว่า เราต้องการจะพบเพื่อนคนใดคนหนึ่ง เมื่อเรามองไม่เห็น

เขา หรือเขายังไม่มาหาเรา เราก็เรียกชื่อเขา ทีนี้ในเมื่อเขามาพบเราแล้ว เราได้พูดจาสนทนา

กันแล้ว ก็ไม่จำเป็นจะต้องไปเรียกชื่อเขาอีก ถ้าขืนเรียกช้ำๆ เขาจะหาว่าเราร่ำไร ประเดี๋ยว

เขาด่าเอา ทีนี้ในทำนองเดียวกัน ในเมื่อเรียก พุทโธๆ ๆ เข้ามาในจิตของเรา เมื่อจิตของเรา

ได้เกิดเป็นพุทโธเอง คือผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จิตของเราก็หยุดเรียกเอง ทีนี้ถ้าหากว่าเรามี

ความรู้สึกอันหนึ่งแทรกขึ้นมา เอ้า ควรจะนึกถึงพุทโธอีก พอเรานึกขึ้นมาอย่างนี้ สมาธิของ

เราจะถอนทันที แล้วกิริยาที่จิตมันรู้ ตื่น เบิกบาน จะหายไป เพราะสมาธิถอน ทีนี้ตาม

แนวทางของครูบาอาจารย์ที่ท่านแนะนำพร่ำสอน ท่านจึงให้คำแนะนำว่า เมื่อเราภาวนาพุทโธ

ไป จิตสงบวูบลงนิ่ง สว่าง รู้ ตื่น เบิกบาน แต่ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ท่านก็ให้ประคองจิตให้อยู่ใน

สภาพปกติอย่างนั้น ถ้าเราสามารถประคองจิตให้อยู่ในสภาพอย่างนั้นได้ตลอดไป จิตของเรา

จะค่อยสงบ ละเอียดๆ ๆ ลงไป ในช่วงเหตุการณ์ต่างๆ มันจะเกิดขึ้น ถ้าจิตส่งกระแสออกนอก

เกิดมโนภาพ ถ้าวิ่งเข้ามาข้างในจะเห็นอวัยวะภายในร่างกายทั่วหมด ตับ ไต ไส้ พุง เห็นหมด

แล้วเราจะรู้สึกว่ากายของเรานี้เหมือนกับแก้วโปร่ง ดวงจิตที่สงบ สว่างเหมือนกับดวงไฟที่เรา

ขุดไว้ในพลบครอบ แล้วสามารถเปล่งรัศมีสว่างออกมารอบๆ จนกว่าจิตจะสงบละเอียดลงไป

จนกระทั่งว่า กายหายไปแล้ว จึงจะเหลือแต่จิตสว่างไสวอยู่ดวงเดียว ร่างกายตัวตนหายหมด

ถ้าหากจิตดวงนี้มีสมรรถภาพพอที่จะเกิดความรู้ความเห็นอะไรได้ จิตจะย้อนกายลงมา

เบื้องล่าง เห็นร่างกายตัวเองนอนตายเหยียดยาวอยู่ ขึ้นอืดเน่าเปื่อยผุพังสลายตัวไป

(หนังสือฐานิยตฺเถรวตฺถุ เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย)

ณ วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๔๓)

Dhamma together:การมีสตินั้นย่อมหมายถึง "มีสติในอะไรบางอย่าง"เสมอ

พระพุทธองค์ทรงชี้ทางแก่ผู้มาหา...มาฝึกกับพวกเราสิ...



การมีสตินั้นย่อมหมายถึง "มีสติในอะไรบางอย่าง"เสมอ เช่นเดียวกับ

การโกรธที่ย่อมจะต้องหมายถึง "โกรธอะไรบางอย่าง" เมื่อเธอดื่มน้ำ

และรู้ตัวว่ากำลังดื่มน้ำอยู่ นั่นหมายความว่าเธอมีสติในการดื่มน้ำ

ในกรณีนี้ เราจะสร้างสติระลึกรู้ในความโกรธ " เมื่อฉันหายใจเข้า

ฉันรู้ว่าตนเองกำลังโกรธ เมื่อฉันหายใจออก ฉันรู้ว่ามีความโกรธอยู่

ในตัวฉัน" ในตอนแรก พลังแห่งความโกรธจะพุ่งขึ้น และจะตามมา

ด้วยพลังแห่งสติ พลังแห่งสตินี้จะโอบกอดพลังแห่งความโกรธเอาไว้

แล้วปลอบประโลมมันจนกระทั่งมันสงบลง

เราจะไม่สร้างสติขึ้นมาเพื่อขับไล่หรือต่อกรกับความโกรธ แต่เราจะดูแลมันอย่างดี วิธีนี้เป็นวิธีที่ไม่มีการ

แบ่งแยกสองขั้ว เพราะวิธีนี้ถือว่าทั้งสติและความโกรธต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของตัวเราทั้งสิ้น

มีพลังหนึ่งโอบกอดอีกพลังหนึ่ง ขอเธออย่าได้โกรธเคืองความโกรธของเธอเลย

อย่าพยายามขับไล่ไสส่งมันหรือกดทับมันเอาไว้ ทว่าให้รับรู้ว่ามันก่อตัวขึ้น แล้วจงดูแลมัน

เมื่อท้องไส้ของเธอเริ่มปั่นป่วน อย่าไปโกรธมัน ขอให้เธอดูแลมันให้ดี

เหมือนแม่ที่ได้ยินลูกร้องไห้ ย่อมละมือจากสิ่งที่ตนกำลังทำอยู่เพื่ออุ้มลูกขึ้นมาแล้วปลอบโยน

จากนั้นแม่จะดูว่าลูกร้องไห้เพราะสาเหตุใด ดูว่าเป็นเพราะลูกไม่สบายกายหรือไม่สบายใจอะไรหรือเปล่า

จงเฝ้าดูความโกรธของเธอเหมือนกำลังเฝ้าดูลูกน้อย อย่าปฎิเสธหรือเกลียดชังมัน

การปฎิบัติภาวนามิได้หมายความว่าเธอจะต้องออกไปทำสงครามต่อสู้กับข้าศึกอีกฝ่ายหนึ่ง

การระลึกรู้ลมหายใจจะช่วยผ่อนคลายให้ความโกรธสงบลง และสติก็จะเข้ามาแทรกแทนที่

เพียงชั่ว ๑๕ นาที ที่เราเปิดเครื่องทำความร้อน ไออุ่นก็จะไหลไปทั่วห้องที่เย็นเยือก

จากนั้นก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น เธอไม่จำเป็นต้องกำจัดหรือสะกดกลั้นอะไรเลย

ไม่แม้กระทั่งความโกรธ เพราะความโกรธเป็นเพียงพลังประเภทหนึ่งเท่านั้น

และพลังทั้งหลายย่อมแปรเปลี่ยนไปได้

การปฎิบัติภาวนาคือศิลปะในการให้พลังอย่างหนึ่งเข้าไปแปรเปลี่ยนพลังอีกอย่างหนึ่ง

ทันทีที่แม่กอดลูกเอาไว้ ลูกจะรู้สึกได้ถึงพลังแห่งความรักที่ปลอบโยนและลูกจะเริ่มรู้สึกผ่อนคลาย

แม้สาเหตุที่ทำให้ลูกไม่สบายยังคงมีอยู่ แต่การที่ได้อยู่ในอ้อมกอดแห่งสติก็เพียงพอแล้วที่จะช่วย

ให้ผ่อนคลายลงได้บ้าง

ท่านติช นัท ฮันห์ จากหนังสือ คำสอน ว่าด้วยรัก

Dhamma together:หัวใจของการทำบุญ

พระพุทธองค์ทรงชี้ทางแก่ผู้มาหา...มาฝึกกับพวกเราสิ...

1.ปุจฉา-ถ้าเราไม่มีเงิน จะทำบุญทำทานได้อย่างไร?

วิสัชนา-อาตมาขอบอกให้ทุกคนรู้ไว้เลยว่า

การทำทาน ถ้าเราไม่มีเงิน ก็ใช้แรงกายทำทานแทนก็ได้ หรือถ้าไม่มีงานที่จะให้แรงกาย

แต่เราตั้งใจทำทาน ก็เพียงแต่ ยกมืออนุโมทนาที่เห็นผู้อื่นทำบุญทำทาน เพียงแค่นี้โยม

ก็ได้บุญ

2.ปุจฉา-การรักษาศีลดีอย่างไร และเราควรทำอย่างไรบ้าง ในชีวิตประจำวัน?

วิสัชนา-การรักษาศีล เป็นการทำให้จิตบริสุทธิ์ พวกโยม สังเกตุหรือไม่?

เวลาที่โยมไปทำบุญ ทำไมพระถึงให้ โยมรับศีลเสียก่อน?

เพราะต้องการที่จะให้ผู้ทำบุญ มีจิตใจที่บริสุทธิ์ เมื่อทำบุญก็จะได้ผลแห่งบุญเต็มกำลัง

บางคนก็อ้างว่า ไม่สามารถถือศีลได้ เพราะหน้าที่การงาน ทำให้ต้องผิดศีล แต่เราสามารถที่

จะถือศีลได้ ขณะที่เรา นอนหลับในเวลากลางคืน และถือศีลได้ครบทั้ง 5 ข้อ อีกด้วย 

เพียงแต่เราตั้งใจที่จะทำ เราก็อาราธนารับศีล 5 ด้วยตนเองต่อหน้าพระพุทธรูปที่บ้าน

ซึ่งถือว่า เป็นการทำบุญที่ง่าย ได้รับผลเต็มกำลัง!!!..ในขณะที่ เรายังมีชีวิตอยู่ จิตใจก็ใส

สะอาด มีความสุข แต่ถ้าเกิด เราตายในขณะที่นอนหลับถือศีล บุญก็จะส่งผลให้เรา

ไปสู่สวรรค์ทันที!!!......

3.ปุจฉา-แล้วเรื่องสมาธิ ปัญญา หรือสวดมนต์ภาวนา มีความสำคัญอย่างไร ต่อชีวิตคนเรา

และเราควรทำอย่างไรบ้างจึงจะถือว่าดีที่สุด?

 

วิสัชนา-แต่บุญทั้งสองข้อ คือ ทานและศีล ก็ยังสู้บุญ จากการสวดมนต์ภาวนาไม่ได้!!! 

คนส่วนใหญ่มักเข้าใจกันว่า การสวดมนต์ภาวนามีประโยชน์น้อย และเสียเวลามาก!!! 

แต่ความจริงแล้ว การสวดมนต์ภาวนามีประโยชน์อย่างมากมาย เพราะ การสวดมนต์ภาวนา

เป็นการกล่าวถึงคุณงามความดี ของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ การสวดมนต์

ด้วยความตั้งใจ จนจิตเป็นสมาธิ และใช้"สติ"พิจารณา จนเกิดปัญญาเห็นธรรม ทำให้จิตบรรลุ

ไปสู่นิพพานได้!!!!......

 



การทำทาน-ทำให้เราร่ำรวย

การถือศีล-ทำให้รูปสวย

การภาวนา-ทำให้เป็นผู้มีปัญญา.....

แต่จงจำไว้ว่า"หัวใจของการทำบุญทุกครั้ง พวกเจ้าต้อง

แผ่เมตตา อุทิศส่วนกุศลให้แก่วิญญาณทุกรูปทุกนาม"!!!

ถ้าพวกเจ้าทำบุญกันให้เป็นตามที่อาตมาสอน บุญจะ

บันดาลให้พวกเจ้ามีความสุขใน ชาติปัจจุบัน ไม่ต้องรอ

ไปถึงชาติหน้า เจริญพร ฯ

หัวใจของการทำบุญ

โดยสมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี

 

Select your language