Dhamma together:"อย่าหวังผลตอบแทน" แล้วจะมีความสุขกับการให้(และแนวคิดเพื่อการทำความดี)

พระพุทธองค์ทรงชี้ทางแก่ผู้มาหา...มาฝึกกับพวกเราสิ...



ถ้าจะทำอะไรให้ใคร ท่องไว้เลยครับ

"อย่าหวังผลตอบแทน"

แล้วจะมีความสุขกับการให้ ไม่ว่าจะให้ไปในวงกว้าง

หรือให้เฉพาะบุคคล  เพราะคุณจำเป็นต้องให้อะไรดีๆกับ

ใครสักร้อยคน ถึงจะมีหนึ่งคน ที่เขาจำคุณได้ว่าเคยมี

บุญคุณกับเขา และอาจต้องให้เป็นพัน หรือหลายพันคน

ถึงจะมีสักคน ที่อยากตอบแทนบุญคุณคุณอย่าง

เหลือกิน


• ทำดีถ้าไม่หวังจะได้ดีที่กระเป๋า จะได้ดีทันทีที่ความรู้สึก

• ทำดีไม่ใช่เห็นทันตา จะทันอย่างเดียวก็คือทันใจ ใจที่มันเป็นสุข

• คนดีไม่ใช่คนที่พยายามทำดี แต่เป็นคนที่เต็มใจทำดี

: อะไรก็แล้วแต่ ที่เราอยากทำด้วยความเต็มใจ บ่งบอกว่าเราเป็นคนอย่างนั้นจริง

: ฝืนใจดี เต็มใจเลว เป็นอาการทางใจของคนไม่มีศีล เต็มใจดี ฝืนใจเลว

เป็นอาการทางใจของคนมีศีล

• ทำดียังไม่ได้ดี เพราะเคยชั่ว ทำชั่วยังไม่ได้ชั่ว เพราะเคยดี

• กลัวและอาย ที่จะทำบาป 7 ที เท่ากับทำดี ไปแล้ว 7 หน

• การล้มเลิกความตั้งใจดีๆ ทำให้คุณอ่อนแอลง ส่วนการล้มเลิกความตั้งใจเลวๆ

ทำให้คุณเข้มแข็งขึ้น

• การทำดีบางครั้งอาจเจ็บปวด แต่ในที่สุดคุณต้องได้รู้ว่า อยู่บนเส้นทางของคนดีจะไม่มี

ความเสียใจ

• อยากทำดี อาจอยู่ไม่สบาย อาจไม่ตายดี แต่จะไปดี

ดั ง ต ฤ ณ

http://www.facebook.com/dungtrin 

Dhamma together:อยู่ด้วยสติปัญญา

พระพุทธองค์ทรงชี้ทางแก่ผู้มาหา...มาฝึกกับพวกเราสิ...



อย่าอยู่ด้วยความหวัง แต่อยู่ด้วยสติปัญญา

สติปัญญารู้ว่าควรทำอะไรก็ทำ

อย่าไปหวัง ทำให้มันถูกต้อง ผลมันมาเอง

ไม่ต้องหวังให้มันกัดกินหัวใจ

หวังเมื่อไหร่ มันกัดหัวใจเมื่อนั้น....

อย่าอยู่ด้วยความหวัง แต่อยู่ด้วยความถูกต้อง

ของการประพฤติการกระทำ

พุทธทาสภิกขุ

Dhamma together:การใช้สติและความเพียรเพื่อแก้ความมักง่ายนั้น หัดใช้ตั้งแต่ในเรื่องความประพฤติทั่วไปอย่างง่ายๆ ธรรมดานี้แหละ

พระพุทธองค์ทรงชี้ทางแก่ผู้มาหา...มาฝึกกับพวกเราสิ...



ฝึกสติและความเพียรในชีวิตประจำวัน ทุกๆ คนจะไม่

มักง่ายหรือจะหายจากความมักง่ายก็ด้วยหัดใช้สติ

และความเพียรประกอบกัน คือ ใช้ความระลึกนึกคิด เช่น

เมื่อแก้ห่อของออก ไม่ต้องการเครื่องห่อนั้นแล้ว ใจก็คิด

จะเหวี่ยงทิ้งทันที ตอนนี้ก็ใช้สติระลึกเสียก่อนว่าควรจะทิ้ง

ที่ตรงนี้หรือไม่ ไม่ต้องถามใครก็ตอบได้ว่าควรหรือไม่ควร

เช่น ถ้าเป็นถนนหนทางหรือที่ไม่ควรทิ้ง

ก็ย่อมรู้อยู่ด้วยกัน แล้วว่าไม่ควรทิ้ง ครั้นรู้ดังนี้แล้ว ก็ใช้ความเพียรนำไปทิ้งในที่ควรทิ้ง

ไม่เกียจคร้าน ที่ทำดังนั้น การใช้สติและความเพียรเพื่อแก้ความมักง่ายนั้น หัดใช้ตั้งแต่ใน

เรื่องความประพฤติทั่วไปอย่างง่ายๆ ธรรมดานี้แหละ เป็นการฝึกหัดตนเองให้เป็นคนทำอะไร

อย่างมีสติและมีความเพียรและจะช่วยให้เป็นคนรู้จักใช้สติและความเพียรในกิจการทุกอย่าง

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก

Dhamma together:ความจริงของอิทัปปัจจยตา

พระพุทธองค์ทรงชี้ทางแก่ผู้มาหา...มาฝึกกับพวกเราสิ...


สมมติว่าคนหนุ่มคนสาวคนหนึ่งซึ่งไม่เคยเรียนธรรมะเลย แล้วก็มีเรื่องอย่างว่าที่เรียกว่า

หัวใจจะแตก อกจะหักเกิดขึ้น แล้วก็ไปถามพระพุทธเจ้าว่าเรื่องมันเกิดขึ้นอย่างนี้

จะทำอย่างไร ในบางกรณีสำหรับบางคน พระพุทธเจ้าจะตรัสว่า "มันเป็นอย่างนั้นเอง"

คนๆนั้นจะสว่างไสวบรรลุมรรคผลที่ตรงนั้นได้ ด้วยคำที่พระพุทธเจ้าตรัสว่ามันเป็นอย่างนั้นเอง

หรือว่าในโลกนี้มันเป็นอย่างนั้นเอง คนนั้นไม่เคยเรียนธรรมเรื่องอนัตตา เรื่องอิทัปปัจจยตา

โดยตัวหนังสือ โดยการท่องจำ หรือโดยการเรียนในโรงเรียนก็ตาม แต่มันก็มีความรู้สึกภายใน

เป็นต้นทุน พอพระพุทธเจ้าตรัสว่ามันเป็นอย่างนั้นเองมันก็โพลงออกไปแบบฟ้าผ่า ให้รู้ว่า

มันเป็นอย่างนั้นเอง ก็เลยไม่เสียใจ แล้วก็บรรลุมรรคผลที่ตรงนั้นก็ได้ อย่างนี้จะอธิบายว่า

อย่างไร ว่าเขาเป็นคนชนิดไหน เขาเป็นคนไม่รู้ธรรมะมาก่อนเลย แต่ธรรมะระเบิดโผงออกไป

ที่ตรงนั้นเอง ได้ยินแต่เพียงว่ามันเป็นอย่างนั้นเอง นี้มันคงประกอบกันในข้อที่ว่าเขานับถือ

และเชื่อพระพุทธเจ้าด้วย และเขาก็รู้สึกได้ขึ้นมาทันทีด้วยว่ามันเป็นอย่างนั้นเอง


ธรรมชาติ หรือในโลก ในสังคม มันเป็นอย่างนั้นเอง

ขอให้ถือว่าโอกาสที่จะบรรลุธรรม สำหรับผู้ที่ไม่เคย

มีธรรม ผู้ที่ไม่เคยรู้ธรรมมาก่อน พอสิ่งต่างๆประจวบ

เหมาะพร้อมกันดี คำพูดพยางค์เดียว ทำให้เป็น

พระอรหันต์ได้ อย่างพระพุทธเจ้าตรัสแก่คนบางคน

ว่า เมื่อตาเห็นรูปก็สักว่าเห็น  เมื่อหูได้ยินก็สักว่าได้ยิน

ทำไมมันเข้าใจได้และเป็นพระอรหันต์ที่ตรงนั้นได้

นี้เป็นความจริงของอิทัปปัจจยตา มันผ่าลงมาอย่างกับ

ฟ้าผ่า แต่ว่าในคำพูดอย่างอื่น ยอมรับกันอยู่แล้ว


ธรรมะทุกข้อ ไม่ว่าข้อไหนหมวดไหน แก่นหรือแกนของมันอยู่ที่ความเป็นอิทัปปัจจยตา

แต่เราไม่ใช้คำนี้เราใช้คำอื่น ใช้คำว่าศีล สมาธิ ปัญญา อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือหมวด

ธรรมทั้งหลายมากมาย แต่ว่าแกนของมันอยู่ที่อิทัปปัจยตา ทีนี้การที่จะเอามาใช้ มันก็มี

อย่างว่า คือว่าใช้สำหรับคนที่ไม่รู้ธรรมะชื่อนี้มาก่อน...มันก็ต้องมีความประจวบเหมาะอย่างว่า

ธรรมะนี้จึงจะโพลงขึ้นมาด้วยวิธีปลุกอย่างวิธีฟ้าแลบ จึงเป็นวิธีที่พวกเซนเขาชอบ แต่คน

ธรรมดาเขาไม่ชอบอย่างนั้น เขาชอบให้ค่อยทำค่อยไปให้เรื่องมันมาก เพราะเขาต้องการ

ความแตกฉาน แต่พวกเซนไม่ต้องการความแตกฉานทางภาษาพูด หรือทางหนังสือ หรือ

ทางเหตุผล ต้องการความแตกฉานแต่ทางสว่างไสวลุกโพลง ฉะนั้นจึงรอเวลา รอโอกาสบ้าง

พอสะกิดคำพูดเพียงคำเดียว มันก็โพลงเป็นฟ้าผ่าฟ้าร้องเลย มันก็เห็นธรรมะนั้นได้

#โอมหรือโอง พวกพราหมณ์ พวกศาสนาพราหมณ์เขายังเก่งกว่าเรา คือเขาสรุปรวม

ความหมายของธรรมะทั้งหมดไว้ที่คำเพียงพยางค์เดียวคือคำว่าโอง พอตวาดไปด้วยคำว่า

โอง ทุกอย่างจะมาหมด สติจะมาตามเดิม สติสัมปชัญญะจะมาหมด ความจริงทั้งหลาย

จะแจ่มแจ้งหมด ตวาดไปด้วยคำว่าโองคำเดียวเท่านั้น โอมหรือโอง สติจะมาตามเดิม แล้วก็

รู้ว่าอะไรเป็นอะไรตามที่เขาต้องการจะรู้ เขามีหลักไว้แล้ว นี่เขายังเก่งกว่าเราที่เขาใช้พยางค์

เดียวได้ เรายังใช้ถึงสามพยางค์ว่า "ตถตา" คำว่าโองนี้ไม่มีความหมายในทางภาษา ถ้าจะ

เอาความหมายทางภาษาไม่รู้ว่าอะไร แต่ความหมายในทางธรรมหรือทางศักดิ์สิทธิ์คือ

ทั้งหมดของความจริง ของความถูกต้อง ของความเข้มแข็ง ของความดี อะไรต่างๆ เพราะเขา

ฝึกฝนกันมาอย่างนั้น การตวาดออกไปว่าโอมหรือโองนี่ มันเป็นอย่างนั้น แต่ไม่ได้หมาย

ความว่าพวกพราหมณ์ทุกคนจะรู้จักอย่างนั้นหรือใช้อย่างนั้น แต่ความมุ่งหมายของเขา

อย่างนั้น ว่าให้มีพยางค์ศักดิ์สิทธิ์สำหรับคนเอาไปพยางค์หนึ่ง แล้วเรียกมาซึ่งสติสัมปชัญญะ

ความรู้ ความแข็งแรง ความอดทน อะไรต่างๆ มันก็คุมได้ ถ้าพึ่งวิธีอย่างนี้เป็นหลักก็คือ

พวกที่เขาเรียกกันว่า มันตรยาน ใช้สวดมนต์บทใดบทหนึ่ง ความอดทน อะไรต่างๆ มันก็

คุมได้ ใช้สวดมนต์บทใดบทหนึ่งที่เหมาะแก่เขา โดยเฉพาะสำหรับท่องบ่นให้ชินเพื่อเรียกสติ

มาทันท่วงที เมื่อเกิดเรื่องดีใจ เสียใจ ร้องไห้ ทุกข์โศกต่างๆ พอพ่นพยางค์นี้ออกมาแล้วมัน

จะเหมือนกับตวาดสิ่งเหล่านั้นให้ถอยกลับไปหมด สติสัมปชัญญะเลยอยู่ มันก็มีผลดีสำหรับ

คนประเภทหนึ่ง ซึ่งมีอยู่มากในโลกนี้ จะเรียกว่าคนโง่ที่สุด หรือคนโง่ไม่มาก คนโง่ธรรมดา

หรือ คนฉลาดนิดหน่อยก็ตามใจ คนจำนวนหนึ่งต้องใช้วิธีอย่างนี้ คนจำนวนหนึ่งใช้วิธี

อย่างอื่น เพราะฉะนั้นบางลัทธิใช้วิธีนี้ก็เจริญเหมือนกัน แล้วก็เขาเอาตัวรอดได้ เขาใช้วิธีลัด

เป็นเคล็ดลับของเขา... ถ้าเราจะไม่ชอบคำนี้เราใช้คำว่า พุทโธ ธัมโม อะไรก็ได้ พออะไร

เกิดขึ้นก็พุทโธ เพราะว่าเป็นคำที่รู้ความหมายได้ง่ายกว่า ก็เป็นของง่ายสำหรับคนที่

ฉลาดน้อย มีความเชื่อมาก สรุปธรรมะทั้งหมดไว้ในคำว่าพุทโธ เกิดเรื่องอะไรขึ้นก็พ่นออกไป

ว่าพุทโธ เพื่อหยุดสิ่งที่กลุ้มรุม แล้วก็เกิดสติสัมปชัญญะ มันก็เป็นโอกาสให้ตั้งตัวได้

และทำต่อไปอย่างถูกต้อง ถ้าไม่ชอบคำว่าพุทโธ ใช้คำว่าธัมโมก็ได้ ที่จริงการที่คนพลั้งปาก

ว่า พุทโธ่ พุทโธ่ นั้นดีที่สุดแล้ว แต่ไม่ดีตรงที่เขาไม่รู้ความหมายของคำว่าพุทโธ แต่ว่าปู่ย่า

ตายายสอนไว้ดีแล้ว ถึงยังไงๆก็ขอให้พลั้งปากว่าพุทโธเถอะ อย่าไปพลั้งปากว่าอย่างอื่นเลย

อย่างนั้นก็ดีอยู่มากแล้ว คำว่าพุทโธนั้นคือรู้นะ แปลว่าความเป็นผู้รู้

พุทธทาสภิกขุ

Dhamma together:ปัญหามีไว้แก้ ขอให้ตั้งหน้าตั้งตาแก้ ตั้งหน้าตั้งตา จัดการกับมัน การปฎิบัติธรรมก็เช่นกัน

พระพุทธองค์ทรงชี้ทางแก่ผู้มาหา...มาฝึกกับพวกเราสิ...




ปัญหาไม่ได้มีไว้กลุ้ม ปัญหามีไว้แก้

ก็ขอให้ตั้งหน้าตั้งตาแก้ ตั้งหน้าตั้งตา

จัดการกับมัน การปฎิบัติธรรมก็เช่นกัน

เวลาเกิดอะไรที่ไม่น่าพอใจ ก็ให้ท่อง

คาถาว่า “ช่างมัน” “ไม่เป็นไร”

มันเครียดก็ไม่เป็นไร มันหงุดหงิดก็ไม่เป็นไร

อันนี้จะทำให้เรายิ้มรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นในใจได้”

 พระไพศาล วิสาโล

 

Dhamma together:ไม่ใช่ทำความดีจะเจอสิ่งที่ดีถูกใจเสมอไป

พระพุทธองค์ทรงชี้ทางแก่ผู้มาหา...มาฝึกกับพวกเราสิ...


ไม่ใช่ว่าปฏิบัติธรรมแล้วชีวิตจะราบรื่น

เป็นมอเตอร์เวย์แปดเลนไปตลอดทาง

ไม่ใช่ทำความดีจะเจอสิ่งที่ดีถูกใจเสมอไป

โลกธรรมต้องมีอยู่เหมือนเดิม

เพราะเป็นของโลกที่เราอยู่อาศัย

คนดีเข้าป่ายุงไม่ได้กัดน้อยกว่าคนชั่ว

ถ้าเรารู้เท่าทันโลกธรรม

มันจะทำให้เราไม่ต้องไปขุ่นมัวกับมัน


ชยสาโรภิกขุ

Dhamma together:ให้เอาชนะใจตนเอง ไม่ใช่ให้ยอมแพ้

พระพุทธองค์ทรงชี้ทางแก่ผู้มาหา...มาฝึกกับพวกเราสิ...



“ถ้าแค่ในจิตใจตัวเอง จะปฏิบัติธรรมยังเข้มแข็งไม่ได้

แล้วต่อไปจะสู้งานอะไรข้างนอก ถ้าแพ้ใจตัวเองเสียแล้ว

จะไปเอาชนะมารที่ไหน ท่านให้เอาชนะมาร พระพุทธเจ้า

สำเร็จก็ด้วยชนะมาร ท่านจึงบอกว่าต้องเอาชนะใจตัวเอง

ให้ได้ ผู้ที่เอาชนะใจตัวเองได้ คือมีชัยชนะสูงสุด

พระพุทธเจ้าเน้น ให้เอาชนะใจตนเอง ไม่ใช่ให้ยอมแพ้

ถ้าใจปวกเปียกอ่อนแอ จะเอาอย่างนั้นอย่างนี้ ก็ต้อง

ตรวจสอบว่ามันถูกต้องหรือเปล่า ถ้าไม่ถูก ข้าไม่เอากับแก

จิตของเราอ่อนแอ มันจะเอาอย่างนั้น เรามีปัญญา เราก็บอก

ว่าแกไม่ถูกแล้ว ข้าต้องบังคับแก แล้วเราก็ชนะใจตัวเองได้

พอชนะใจได้ เราก็เดินหน้า ถ้ามิฉะนั้นก็ไม่ต้องไปไหนแล้ว”

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์

( ป. อ. ปยุตฺโต )

Dhamma together:กุญแจสู่ความสุขและความก้าวหน้าของชีวิต

พระพุทธองค์ทรงชี้ทางแก่ผู้มาหา...มาฝึกกับพวกเราสิ...


“พอใจในสิ่งที่มี ยินดีในสิ่งที่ได้”

คือกุญแจสู่ความสุขและความก้าวหน้าของชีวิต

พอใจในสิ่งที่มีแปลว่าได้เท่าไรก็พอใจ แม้คนอื่นจะได้

มากกว่าก็ไม่เป็นทุกข์ อย่างไรก็ตามเมื่อพอใจสิ่งที่ได้

มาแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่านั่งเฉย ๆ งอมืองอเท้า

ตรงกันข้ามเราควรขยันหมั่นเพียรต่อไป เพราะความสุข

ที่แท้จริงมิได้อยู่ที่การมีมาก ๆ หรือบริโภคเยอะ ๆ

แต่อยู่ที่การทำงานและการสร้างสรรค์สิ่งดีงาม

ให้แก่โลก มนุษย์เราไม่สามารถสร้างความก้าวหน้า

ให้แก่ตนเองและแก่โลกได้


หากไม่รู้จักพอกับการเที่ยวเล่นหรือปรนเปรอตนเอง ขณะเดียวกันหากมัวแต่หาเงินหาทอง

ไม่รู้จักพอ ก็จะไม่มีเวลาและพลังงานเหลือสำหรับการทำสิ่งดีงามให้แก่ตนเองและแก่โลก

ท่านอาจารย์พุทธทาสสอนว่า จงทำงานให้มาก แต่บริโภคให้น้อย เพื่อเอาส่วนเกินมาเจือจาน

ผู้อื่น เศรษฐีที่เป็นพุทธสาวกในสมัยพุทธกาล ล้วนใช้สอยพอประมาณ ทั้งนี้เพื่อนำเงินที่

เหลือไปเอื้อเฟื้อคนยากจน ขณะเดียวกันก็ขยันขันแข็งในการทำงาน ไม่ใช่เพื่อหาเงินมา

มาก ๆ แต่เพื่อทำประโยชน์แก่ส่วนรวม นอกจากการช่วยเหลือผู้อื่นแล้ว เรายังควรมีเวลา

สำหรับการฝึกฝนพัฒนาตน เพิ่มพูนความรู้ และทำจิตให้สงบด้วย หากเรามัวแต่เที่ยวเล่นหรือ

หาเงินหาทองไม่หยุดหย่อน เราจะมีเวลาเหลือสักเท่าไรในการทำสิ่งที่มีความสำคัญต่อชีวิต

พอเพียงในการบริโภค ไม่โลภในการแสวงหาทรัพย์ แต่ขยันทำงานและสร้างสรรค์ความดี

แก่ส่วนรวม คือเคล็ดลับสู่ความก้าวหน้าของตนเองและของโลก

ข้อธรรม คำสอน พระไพศาล วิสาโล

Dhamma together:ตัวเองมันคืออะไร?

พระพุทธองค์ทางชี้ทางแก่ผู้มาหา...มาฝึกกับพวกเราสิ...



ตัวเองมันคืออะไร? ตัวเองนี่คือสิ่งที่มันรู้จักได้ยากที่สุด

ทำไมมันจึงเป็นอย่างนั้น ก็เพราะว่าตัวเองมันต้องรู้จัก

ตัวเอง แล้วตัวเองมันจะรู้จักตัวเองได้อย่างไร...

มันเหมือนกับคนบ้าที่รู้จักตัวเองซึ่งกำลังบ้า มันจึงรู้จัก

ยากที่สุด รู้จักตัวเองนี่รู้จักได้ยากที่สุดกว่ารู้จักสิ่งใด ๆ

ตัวเองที่คนโง่ ๆ ก็มักจะพูดว่า กูรู้จักมึงดี กูรู้จักตัวกูดี

มันรู้จักผิด ๆ ทั้งนั้น... เราจึงได้เห็นคนจำนวนมากนี่

ทำผิด ๆ แล้วใครสอนก็ไม่เชื่อ กลับดื้อเสียอีก เขาแนะนำ

ในทางที่ถูกต้อง มันก็ไม่เชื่อ มันก็ยิ่งดื้อดึงเอาเสียอีก

นี่เพราะว่ามันไม่รู้จักตัวเอง ที่มันรู้อยู่นั้น หรือที่มันอวดว่ารู้อยู่นั้น มันไม่ถูกทั้งนั้นแหละ

ถ้าว่ารู้จักตัวเองอย่างถูกต้องแล้ว จะทำอะไร ๆ ถูกต้อง ก็เป็นไปราบรื่น สรุปความว่า ไอ้ตัวกู

ตัวฉัน ตัวอะไรที่รู้สึกนั้น นี้เป็นตัวที่ลวงที่หลอกลวง คือ รู้ไม่จริง รู้สึกไม่จริง ถ้ายังมีความรู้สึก

ว่าตัวตน ตัวกู ตัวเรา ตัวเขา อยู่เมื่อไหร่ ก็ยังเรียกว่ายังโง่อยู่เพียงนั้น เพราะมันไม่อาจจะมี

ตัวตนได้ ตัวตนที่แท้จริงมีไม่ได้ นอกจากตัว ๆ เดียวเท่านั้น คือ ตัวธรรมะ ตัวสัจจะที่เป็น

ความจริงของธรรมชาติ นี่แหละตัวธรรมะ ไอ้ตัวนี่แหละจริง ไอ้ส่วนตัวตนตัวกูตัวเราตัวฉัน

ตัวเขา ที่จิตมันรู้สึกคิดนึกได้ด้วยอำนาจของอวิชชานั้นไม่เป็นตัวจริง ไม่ใช่ตัวจริง มันเป็น

ตัวโง่ มันเป็นตัวมายา เมื่อมันเป็นตัวที่ไม่จริงแล้วจะให้มันรู้จักตัวเองได้อย่างไรกัน มันเหลือ

วิสัย ที่จะให้ตัวที่ปรุงขึ้นมาจากอวิชชานี้รู้จักตัวมันเอง มันเป็นไปไม่ได้ นี่คำว่า ตัวเอง จึงเป็น

คำประหลาด แทนที่ทุกคนจะรู้จัก มันกลายเป็นไม่รู้จัก มันไปรู้จักอันอื่นเสียมากกว่า ความคิด

เกิดขึ้นอย่างนี้แล้ว ก็เขียนเป็นคำกลอนไว้ว่า

สิ่งรู้จัก ยากที่สุด กว่าสิ่งใด

ไม่มี สิ่งไหน ๆ ได้ยากเท่า

สิ่งนั้น คือตัวเอง หรือตัวเรา

ที่คนเขลา หลงว่ากู รู้จักดี

ที่พระดื้อ เณรดื้อ และเด็กดื้อ

ไม่มีรื้อ มีส่าง อย่างหมุนจี๋

เพราะความรู้ เรื่องตัวกู มันไม่มี

หรือมี อย่างไม่มี ที่ถูกตรง

อันตัวกู ของกู ที่รู้สึก

เป็นตัวลวง เหลือลึก ให้คนหลง

ส่วนตัวธรรม เป็นตัวจริง ที่ยิ่งยง

หมดความหลง รู้ตัวธรรม ล้ำเลิศตน

พุทธทาสภิกขุ

Dhamma together:ฝึกหัดจิตให้มีสติทุกเมื่อ..

พระพุทธองค์ทรงชี้ทางแก่ผู้มาหา...มาฝึกกับพวกเราสิ...


ฝึกหัดจิตให้มีสติทุกเมื่อ ส่วนการสำรวมระวังใจ

ถ้าอยู่เฉยๆ ใจไม่มีเครื่องอยู่ ให้เอาคำบริกรรมอันใด

อันหนึ่งมาเป็นเครื่องอยู่มาเป็นหลักผูกใจ เช่น พุทโธ

อานาปานสติ ตามลมหายใจเข้าออก ยุบหนอพองหนอ

หรือสัมมาอรหังก็ได้ เอาอันนั้นมาเป็นเครื่องอยู่เสียก่อน

นึกคิดอยู่เสมอๆจนเป็นอารมณ์ มีสติควบคุมจิตอยู่

ตรงนั้นแหละ จิตอยู่ที่ใดให้เอาสติไปตั้งตรงไว้ในที่นั่น

จึงจะเรียกว่าควบคุมจิต รักษาจิต ที่จะห้ามไม่ให้คิดไม่

ให้นึกนั้น ห้ามไม่ได้เด็ดขาด ธรรมดาของจิตมันต้องมี

คิดมีนึก แต่หากมีสติควบคุมจิตอยู่เสมอ คิดนึกอะไรก็

รู้ตัวอยู่ทุกขณะ เรียกว่า บริกรรมภาวนา


การบริกรรมภาวนานี้มิใช่ของเลว คนบางคนเข้าใจว่าเป็นของเลว เป็นเบื้องต้น ที่จริงไม่ใช่

เบื้องต้น ธรรมไม่มีเบื้องตน ท่ามกลาง ที่สุดหรอก ธรรมะอันเดียวกันนั่นแหละ ถ้าหากสติ

อ่อนเมื่อไรก็เป็นเบื้องต้นเมื่อนั้น สติแก่กล้าเมื่อไรก็เป็นท่ามกลางและที่สุดเมื่อนั้น คือ

หมายความว่าสติคุมจิตอยู่ทุกขณะ จนกระทั่งเป็นมหาสติปัฏฐาน จะยืน เดิน นั่ง นอน ใน

อิริยาบถใดๆทั้งหมด มีสติรอบตัวอยู่เสมอโดยที่ไม่ได้ตั้งใจให้มีสติ แต่มันเป็นของมันเอง

สติควบคุมจิตไปในตัว เมื่อมีสติเช่นนั้นมันก็ไม่เกี่ยวข้องพัวพันกันกับสิ่งต่างๆ เมื่อตาเห็นรูป

หูได้ยินเสียง ลิ้นลิ้มรสต่างๆ กายได้สัมผัส มันก็เป็นสักแต่ว่า สัมผัสแล้วก็หายไปๆ ไม่ได้เอา

มาเป็นอารมณ์ ไม่เอามาคำนึงถึงใจ อันนั้นเป็น มหาสติ แท้ทีเดียว..

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี..

 

Dhamma together:หน้าที่ของเราคือ เราต้องรู้เรื่องราวของตนเองในปัจจุบัน

พระพุทธองค์ทรงชี้ทางแก่ผู้มาหา...มาฝึกกับพวกเราสิ...




ไม่ต้องสงสัยว่า ชาติหน้ามีหรือไม่มี

ไม่ต้องถามว่า คนตายแล้วจะเกิดหรือไม่เกิด

อันนั้นไม่ใช่ปัญหา มันไม่ใช่หน้าที่ของเรา

หน้าที่ของเราคือ เราต้องรู้เรื่องราวของตนเองในปัจจุบัน

เราต้องรู้ว่า เรามีทุกข์ไหม ถ้าทุกข์ มันทุกข์เพราะอะไร

นี้คือสิ่งที่เราต้องรู้ และเป็นหน้าที่โดยตรงที่เราจะต้อง

รู้ด้วย

หลวงปู่ชา สุภัทโท

Dhamma together:ไม่ต้องแยแสต่อเรื่องทางธรรมหรือศาสนาก็ได้ ถ้าหากว่า วัตถุจะไม่ทำให้ท่านเป็นทุกข์ทางวิญญาณ

พระพุทธองค์ทรงชี้ทางแก่ผู้มาหา...มาฝึกกับพวกเราสิ...



"ไม่สนใจธรรมก็ได้" ถูกแล้ว

ท่านจะสนใจแต่เรื่องก้าวหน้าทางวัตถุอย่างเดียว

โดยไม่ต้องแยแสต่อเรื่องทางธรรมหรือศาสนาก็ได้

ถ้าหากว่า วัตถุจะไม่ทำให้ท่านเป็นทุกข์ทางวิญญาณ

และเบียดเบียนกันเหมือนสัตว์ป่า

สติปัญญาที่ก้าวหน้าทางวัตถุ

ย่อมทำให้เกิดความเห็นแก่ตัวขึ้นตามส่วนเสมอไป

ถ้าไม่มีอะไรควบคุมให้ดี ก็คือย้อนไปเป็นสัตว์นั่นเอง

และยิ่งกว่าสัตว์

#๑๑๑ปีพุทธทาสภิกขุ

บันทึกลายมือท่านอาจารย์พุทธทาส

สืบค้นเอกสารลายลักษณ์พุทธทาสภิกขุ ได้ที่

http://archives.bia.or.th

Dhamma together:เรามาจริง เราต้องปฏิบัติจริง จึงจะรู้จึงจะเห็นธรรมอันเป็นของจริง

พระพุทธองค์ทรงชี้ทางแก่ผู้มาหา...มาฝึกกับพวกเราสิ...


พระพุทธเจ้าก็ดี พระอริยสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า

ก็ดี ท่านผู้เป็นพระอริยะทั้งหลายเหล่านั้น ท่านมีข้อวัตร

ปฏิบัติเพื่อให้เป็นเยี่ยงอย่างทุกกาลทุกเวลา ทุกอิริยาบถ

ท่านไม่ได้เลิกละสละปล่อยวางจนตลอดชีวิต พระองค์

ไม่คลุกคลี ทรงชักนำพาสาวก ยินดีแต่ในที่สงบวิเวก

พาสาวกของพระองค์ปฏิบัติ อัปปิจฉตา มักน้อย สันโดษ

มีจิตใจเด็ดเดี่ยวมั่นคง คงที่ ไม่เปลี่ยนแปลง มรรคผล

ธรรมวิเศษนั้น ไม่เลือกบุคคล เพศ ภูมิ ชนชั้น วรรณะ

และไม่เลือกกาล สถานที่ ผู้ดีมีจน มรรคผลมีตลอดกาล

ตลอดเวลา มีประจำอยู่แต่ไหนแต่ไรมา


เรายังขาดศีล สมาธิ ปัญญา ศรัทธา สติ ความเพียร ยัง ไม่แก่กล้าเต็มเปี่ยมบริบูรณ์

จิตจึงไม่มีกำลังต่อสู้เอาชนะกับกิเลสได้ พวกเรามานี้ไม่ใช่มาเล่น เราบวชก็ไม่ใช่บวชเล่น

เราบวชจริง เรามาจริง เราต้องปฏิบัติจริง จึงจะรู้จึงจะเห็นธรรมอันเป็นของจริง พระสัมมา

สัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงตรัสรู้ธรรมจริง เป็นสัจธรรม พระองค์ทรงแสดงธรรมเป็นคำที่มั่นคง

มีอยู่และตั้งอยู่ตลอดกาล ไม่เคยเปลี่ยนแปลง ทั้งในอดีต อนาคต และปัจจุบัน ไม่เคย

คราคร่า ยังสดใส ใหม่เอี่ยม เต็มเปียมอยู่ตลอดกาลทุกเมื่อ ไม่เคยขาดตกบกพร่อง

แม้แต่น้อย จงพากันปฏิบัติอย่างเอาจริงเอาจัง เพื่อจิตจะได้มีกำลังแข็งแกร่ง ต่อสู้กับข้าศึก

ผู้คึกคะนองก่อกวนเราอยู่ตลอดเวลา เป็นเวลาอันยาวนาน จะนับจะประมาณกี่ร้อยกี่พัน

กัปกัลป์อนันตชาติ ก็ประมาณมิได้ ทำให้ เราได้รับทุกข์ทรมานมาแสนสาหัสจนนับร่องรอย

ไม่ได้...”

พระครูวินัยธร (มั่น ภูริทตฺโต)

Dhamma together:ผู้ต้องการพ้นทุกข์ต้องพิจารณากาย

พระพุทธองค์ทรงชี้ทางแก่ผู้มาหา...มาฝึกกับพวกเราสิ...



พระบรมศาสดาจารย์เจ้าทรงตั้งมหาสติปัฐาน

เป็นชัยภูมิก็โดยที่ผู้จะเข้าสู่สงครามรบข้าศึก คือ กิเลส

ต้องพิจารณากายานุปัสนาสติปัฏฐาน เป็นต้นก่อน

เพราะคนเราที่เกิดกามราคะก็เกิดที่กายและใจ เพราะตา

แลเห็นกายทำให้ใจกำเริบ เหตุนั้น จึงได้ความว่า

กายเป็นเครื่องก่อเหตุ จึงต้องพิจารณาที่กายนี้ก่อน

จะได้เป็น เครื่องดับนิวรณ์ทำให้ใจสงบได้ การพิจารณา

กายนี้เป็นของสำคัญ ผู้ที่จะพ้นทุกข์ ล้วนแต่ต้อง

พิจารณากายนี้ทั้งสิ้น สิ่งสกปรกน่าเกลียด นั้นก็คือ

ตัวเรานี้เอง


ร่างกายนี้เป็นที่ประชุมแห่งของโสครก เป็นอสุภะ ปฏิกูล น่าเกลียด เพราะฉะนั้นจงพิจารณา

กายนี้ ให้ชำนิชำนาญ ให้มีสติพิจารณาในที่ทุกสถาน ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ คิด พูด

ก็ให้มีสติรอบคอบในกายอยู่เสมอ ณ ที่นี้พึงทำให้มาก เจริญให้มาก คือพิจารณาไม่ต้องถอย

เลยทีเดียว ขณะเมื่อยังเห็นไม่ทันชัดเจนก็พิจารณาส่วนใดส่วนหนึ่ง แห่งกายอันเป็นที่สบาย

แก่จริตจนกระทั่งปรากฏเป็น อุคคหนิมิต คือ ปรากฏส่วนแห่งร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่ง

แล้วก็กำหนดส่วนนั้นให้มาก เจริญให้มาก ทำให้มาก

ธรรมโอวาท ของ หลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถระ

Dhamma together:ภาษาเพลง...ภาษาธรรม...ใช้สติปัญญา กำลังความ­สามารถ แล้วจะสามารถเอาชนะแม้แต่โชคชะตาได้...ดวงชะตาขีดไว้ให้ฝ่าฟัน...

พระพุทธองค์ทรงชี้ทางแก่ผู้มาหา...มาฝึกกับพวกเราสิ...



ความเพียรของมนุษย์

เทวดาก็กีดกันไม่ได้

ว่างั้นนะ อันนี้ก็หมายความว่า

พุทธศาสนา ไม่ยอมแก่เรื่องโชคชะตา

ให้มีความเพียรพยายาม

ใช้สติปัญญา กำลังความ­สามารถ

แล้วจะสามารถเอาชนะแม้แต่โชคชะตาได้

 

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)


ขวากหนาม คือ แรงชีวิตผลักดัน สู่ความฝันอันยิ่งใหญ่ รู้ในใจอยู่เสมอ ดวงชะตาขีดไว้ให้ฝ่าฟัน 

Dhamma together:ผลที่เราจะรู้จักมันดี มันต้องเป็นผลที่ได้ผ่านเรา คือ เราได้มี การปฏิบัติลงไปจริง ๆ

พระพุทธองค์ทรงชี้ทางแก่ผู้มาหา...มาฝึกกับพวกเราสิ...




ความเข้าใจกับความเห็นแจ้งนั้นไม่เหมือนกัน...

ความรู้นี้ต่ำที่สุด, ความเข้าใจสูงขึ้นไป, ความเห็นแจ้ง

สูงขึ้น เมื่อเราศึกษาเล่าเรียน อ่าน เขียน ฟัง เราได้

ความรู้ เรียกว่า knowledge มาจากการศึกษา ทีนี้เรา

มาใช้เหตุผลในการคำนึงคำนวน เราก็ได้รับความเข้าใจ

เป็น understanding ซึ่งมันไม่เพียงแต่ว่ารู้ ๆ ต่อมา

เราได้ทำสิ่งนั้นเข้าจริง ๆ ได้ผ่านสิ่งนั้นเข้าไปจริง ๆ คือ

ได้ผ่านสิ่งนั้นเข้าไปจริง ๆ เรามี experience ในสิ่งนั้น

จริง เกิดการเห็นแจ้งคือได้ชิมด้วยใจได้ผ่านไปด้วยใจ

realization หรือ intuitive wisdom 

หรืออะไรที่สุดแท้แล้วแต่จะเรียก แต่ให้รู้ว่าความหมายมันต่างกันมาก ความรู้ ความเข้าใจ,

ความเห็นแจ้ง ทีนี้คำว่าผลที่เราจะรู้จักมันดี มันต้องเป็นผลที่ได้ผ่านเรา คือ เราได้มี

การปฏิบัติลงไปจริง ๆ และมีเกิดผลผ่านใจเราไปจริง ๆ ผลนั้นเป็นที่แจ่มแจ้ง เห็นแจ้งแก่ใจ

ของเรา คำว่าปฏิเวธก็หมายความถึงความแจ่มแจ้งด้วยใจอย่างนี้ โดยไม่ต้องใช้เหตุผล

มันเกินที่จะใช้เหตุผล และมันเกินที่จะเพียงแต่อ่าน ๆ เขียน ๆ แล้วก็รู้ อย่างนั้นมันไม่พอ

เนื้อหนังร่างกายจิตใจของเราทั้งหมดนี้ เรียกว่าสภาวะธรรมแล้วมันมีกฎเรื่องไม่เที่ยง

เป็นทุกข์ เปลี่ยนแปลงไปตามกรรมไปตามเหตุตามปัจจัยนี้อยู่ในสภาวะธรรมนั้น และเนื้อตัว

เราทั้งหมดมีหน้าที่ แม้ที่สุดแต่ว่าเซลล์เล็ก ๆ สักเซลล์หนึ่งในร่างกายนี้ก็มีหน้าที่ที่จะต้องทำ

ตามหน้าที่ของเซลล์ตามธรรมชาติ ทีนี้ทั้งเนื้อทั้งตัวทั้งใจมันก็ยิ่งมีหน้าที่สลับซับซ้อน หน้าที่

ทางกาย, หน้าที่ทางจิต, หน้าที่ทางวิญญาณ อย่าไปมองธรรมะที่อื่น อย่าไปมองธรรมะ

ที่ในหนังสือ อย่าไปมองธรรมะที่วัด ให้มองธรรมะที่เนื้อที่ตัวที่ใจที่อะไรของตัวเองจึงจะพบ

ธรรมะจริง

พุทธทาสภิกขุ

Dhamma together:คนเราถ้าไม่ขาด ไม่สูญเสีย หรือไม่พลัดพรากห่างไกลจากสิ่งที่เคยมีเราจะไม่รู้เลยว่าสิ่งนั้นมีคุณค่า

พระพุทธองค์ทรงชี้ทางแก่ผู้มาหา...มาฝึกกับพวกเราสิ...



คนเราถ้าไม่ขาด ไม่สูญเสีย หรือไม่พลัดพรากห่างไกล

จากสิ่งที่เคยมีเราจะไม่รู้เลยว่าสิ่งนั้นมีคุณค่า ไม่ว่าจะเป็น

สิ่งของหรือบุคคล คนที่มีพ่อแม่จะค่อยไม่รู้สึกเลยว่า

การที่ได้อยู่กับพ่อแม่ หรือพ่อแม่ยังอยู่กับเรานั้นมี

ความหมายเพียงใด พอไกลจากท่านหรือท่านเสียชีวิตไป

จึงค่อยได้คิดว่าช่วงนั้นเป็นช่วงที่เรามีความสุขที่สุด

ในชีวิต แต่ตอนนั้นไม่รู้สึกนะว่าเป็นช่วงที่มีความสุข

เพราะใจอยากได้อย่างอื่นที่ไม่เคยมี คนเรามักจะแสวงหา

สิ่งที่ไม่มี เราคิดว่าถ้าเราได้มันมาเราจะมีความสุข

แต่เรา ลืมมองไปว่าสิ่งที่เรามีอยู่กับตัวตอนนี้ให้ความสุขกับเราแล้ว ไม่ต้องแสวงหาความสุข

จากที่ไหนอีก การที่เรามาลำบากอย่างนี้ อย่างน้อยๆ มันทำให้เราได้เห็นว่าบ้านเอย หอพัก

เอย เป็นที่ ๆ ให้ความสุขแก่เรา ไม่ต้องดิ้นรนเรียกร้องแสวงหาอะไรมากกว่านี้ก็ได้ เป็นเพราะ

เราไม่เห็นคุณค่าของสิ่งที่เรามี เราถึงอยากได้โน่นอยากได้นี่ มีโทรศัพท์มือถือแล้ว

ก็ไม่พอใจอยากได้รุ่นใหม่ อยากได้รุ่นที่มีลูกเล่นมากกว่านี้ แต่พอโทรศัพท์หายถึงค่อยรู้ว่า

มันมีค่า เราอย่ามาคอยให้มันหายหรือสูญเสียมันไปก่อนแล้วค่อยเห็นคุณค่า ต้องรู้จักชื่นชม

มันเสียตั้งแต่เดี๋ยวนี้ ตั้งแต่มันยังอยู่กับเรา คนเรามักจะเห็นคุณค่าของสิ่งต่างๆ อยู่ ๒ ช่วง

ช่วงที่ ๑ คือตอนได้มาใหม่ๆ จะทะนุถนอมมากเลยไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า โทรศัพท์ เครื่องเล่น

MP3 กล้องถ่ายรูป ตอนได้มาใหม่ๆ ก็ทะนุถนอม แต่พออยู่ไปนานๆ ก็ไม่เห็นคุณค่าแล้ว

ไปเห็นคุณค่าอีกทีตอนมันหาย แต่ตอนที่มันอยู่กับเรากลับไม่เห็นคุณค่า บางทีเจอเพื่อนก็

ชอบเขา อยากได้เป็นแฟน พอได้เป็นแฟนใหม่ๆ มีความสุขมากเลย พออยู่ไปนานๆ ก็เบื่อ

แล้ว อยากได้คนใหม่อยากได้กิ๊ก คนเดิมไม่เอาแล้วไม่สวยน่าเบื่อ แต่พอเขาทิ้งเราไปแล้ว

ก็มาเสียดาย ได้คิดว่าเขาดีกับเรามาก แต่ก็สายไปแล้ว คนเราจะเริ่มเห็นคุณค่าของคน

ของเพื่อน ของแฟนตอนที่ได้มาใหม่ๆ กับอีกตอนหนึ่งคือตอนที่เขาจากเราไป แต่ตอนที่เขา

อยู่กับเรานั้นเราไม่ค่อยเห็นคุณค่าเท่าไหร่ การมาลำบากอย่างนี้ มาอยู่แบบขาดแคลน

ทุกอย่าง จะช่วยให้เราเห็นคุณค่าของสิ่งที่เราเคยมี ความลำบากจึงมีประโยชน์ คนเราต้อง

เจอความลำบากบ้าง เพราะความลำบากจะทำให้ได้สติ ลำบากจะทำให้เกิดปัญญา

ความลำบากจะทำให้เราเห็นคุณค่าของสิ่งที่เราเคยมี เพราะฉะนั้นอย่ากลัวความลำบากนะ

ต้อนรับ ยิ้มรับ โอบกอดความลำบากเลยก็ได้ พรุ่งนี้ยังมีความลำบากอีกมากที่เราต้องอ้าแขน

ต้อนรับ ขอให้เตรียมใจไว้

ข้อธรรม คำสอน พระไพศาล วิสาโล บรรยายธรรมยาตรา

Dhamma together:ภาษาเพลง...ภาษาธรรม...คุณค่าที่แท้จริงในตัวเอง....ชีวิตนั้นมีเพื่อวันพรุ่งนี้...ที่เราต้องทำวันนี้คือทำให้ดีให้ได้

พระพุทธองค์ทรงชี้ทางแก่ผู้มาหา...มาฝึกกับพวกเราสิ...

อาตมามักจะถามลูกศิษย์ที่เคยมีปัญหาอกหักว่า

ระหว่างการที่คนรักบอกเลิกกับการที่เขาไม่เห็นคุณค่าของเรา

อย่างไหนทำให้ทุกข์หรือเจ็บปวดมากกว่ากัน

ทุกคนตอบตรงกันว่าเป็นอย่างหลัง ถ้าเป็นอย่างนั้นก็แสดงว่าความทุกข์ที่สำคัญ

ไม่ได้เกิดจากการที่คนรักบอกเลิก

แต่เกิดจากความรู้สึกว่าตัวเองสูญสิ้นคุณค่าในสายตาของเขาน่ะสิ

แล้วความรู้สึกนี้มันเป็นจริงหรือเปล่า


การที่คนเราจะมีคุณค่าหรือไม่มีคุณค่าย่อมไม่ขึ้น

อยู่กับความเห็นของคนอื่น แต่ขึ้นอยู่กับการกระทำ

และคุณสมบัติที่มีอยู่ในตัวเราก่อนแล้ว

ต่อให้ใครเห็นหรือไม่เห็น คุณค่านั้นย่อมไม่ได้

เสื่อมสลายไปทางไหน

เหตุที่เราทุกข์มากเมื่อคนรักตีจาก

ก็เพราะเราเอาคุณค่าของตัวเองไปฝากไว้กับคนอื่น

ต่างหาก



"เพราะเรารักเขา เขาเป็นคนสำคัญของเรา เขาจึง ต้องเห็นคุณค่าของเรา"

ตรรกะแบบนี้เราตั้งขึ้นเองโดยไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง

ถ้าเรารักใคร บุคคลนั้นย่อมมีคุณค่าและเป็นคนสำคัญสำหรับเราแน่ๆ แต่ไม่ได้หมายความว่า

เขาจะต้องเห็นคุณค่าของเราอย่างที่เรา 'อยาก' จะให้เขาเห็น หากคนที่เรารักตาเขหรือ

ตาบอดสี เราจะไม่แย่หรอกหรือ 

ถ้าเราเข้าใจอย่างแท้จริงว่าที่รู้สึกทุกข์ใจมากๆนั้น ไม่ใช่เพราะเขา แต่เป็นเพราะเรา

ความทุกข์ของเราก็จะน้อยลง

เราจะหันมาใส่ใจกับคุณค่าที่แท้จริงในตัวเอง

เรียนรู้ที่จะยอมรับและพอใจกับสิ่งที่มีอยู่ โดยไม่จำเป็นต้องฝากคุณค่านั้นไว้กับใคร

หรือรอให้ใครมาตัดสินคุณค่านั้นแทนตัวเราอีกต่อไป

เหมือนดอกหญ้าที่มีคุณค่าในตัวเอง ถึงแม้ว่าคนอื่นจะเห็นคุณค่าของมันหรือไม่ก็ตาม

พระภูวดล ปิยสีโล

ชีวิตนั้นมีเพื่อวันพรุ่งนี้
 
ที่เราต้องทำวันนี้คือทำให้ดีให้ได้
 
ผิดหวังครั้งก่อนเป็นบทเรียนสอนใจ
 
ร้องไห้ทำไม เสียใจนานไปรึเปล่า


Dhamma together:ถ้าศรัทธาจริงต้องพยายามพิสูจน์สิ่งที่เชื่อ...

พระพุทธองค์ทรงชี้ทางแก่ผู้มาหา...มาฝึกกับพวกเราสิ...



ในพระพุทธศาสนาไม่ต้องเชื่ออะไรมาก แต่ขอให้เชื่อว่า

ด้วยอาศัยธรรมะของพระพุทธเจ้า ตัวเราสามารถละบาป

ได้ สามารถบำเพ็ญกุศลได้ สามารถชำระจิตของตนให้

ขาวสะอาดได้ ในเบื้องต้นแค่นี้พอ ถ้าความเชื่ออย่างนี้

เกิดขึ้นแล้วการปฏิบัติธรรมย่อมเกิดขึ้นทันที เพราะผู้กลัว

ความงมงายต้องลองดูว่าสิ่งที่เชื่อจริงหรือไม่ เราละบาป

ได้จริงไหม ด้วยวิธีไหน ต้องลองพิสูจน์ด้วยความเพียร

จึงจะรู้ได้ เราบำเพ็ญกุศลได้จริงไหม เราชำระจิตใจได้

จริงไหม ต้องลองพิสูจน์ ตรงนี้จะเห็นเอกลักษณ์ของ

ศรัทธาในพระพุทธศาสนาชัดเจน


ถ้าศรัทธาจริงต้องพยายามพิสูจน์สิ่งที่เชื่อ และทำได้เพราะสิ่งที่เราเชื่อนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับ

เหตุการณ์ในอดีต หรือเรื่องที่เหลือวิสัยที่จะรู้ได้ มันเกี่ยวกับชีวิตจริงของเราที่นี่และเดี๋ยวนี้

เกี่ยวกับศักยภาพของเราในปัจจุบัน คำสอนของพระพุทธองค์คือแผนที่ คือเครื่องมือที่เรา

ต้องใช้เพื่อพิสูจน์ความจริง เราจะรู้เรื่องรู้ราว รู้แล้วรู้รอด รู้แจ้งเห็นจริงก็ด้วยการพยายาม

พิสูจน์สิ่งที่เชื่อ

พระอาจารย์ชยสาโร

Dhamma together:จิตที่รู้สึกตัว ต้องมีสติ

พระพุทธองค์ทรงชี้ทางแก่ผู้มาหา...มาฝึกกับพวกเราสิ...


เวลาเรารู้สึกตัว จิตเรามีธรรมะที่ดีๆ หลายอย่าง

เวลาเรารู้ตัวอยู่ คือจิตเรามีสมาธิ แล้วเวลาอะไรเกิดขึ้น

ในกาย ในใจ สติรู้ โดยเราไม่เจตนาจะรู้

อันนั้นเรามีสติที่ดีแล้วบางที ก็เกิดปัญญาเข้าใจความจริง

ว่าสิ่งที่เกิดนั้น เกิดแล้วดับ ไม่มีอะไรคงทนถาวร

อันนี้รู้สึกตัวอยู่ด้วย แล้วมีปัญญาอยู่ด้วย

ฉะนั้น คำว่ารู้สึกตัวคำเดียว ครอบคลุมธรรมะที่ดีๆ

จำนวนมาก ในขณะที่รู้สึกตัวอยู่ เรามีความเพียรอยู่

ในขณะที่รู้สึกตัวอยู่ เรามีสติอยู่

ในขณะที่รู้สึกตัวอยู่ เรามีสมาธิอยู่ แล้วบางทีก็มีปัญญา


ความรู้สึกตัวกับสตินั้นเกี่ยวเนื่องกัน จิตที่รู้สึกตัว ต้องมีสติ

แต่จิตที่มีสติ บางทีไม่รู้สึกตัวก็มี อย่างเวลาเรามีสติในการทำงาน

ตอนมีสติจดจ่อกับการทำงาน เราไม่ได้รู้สึกตัว จุดสำคัญ พยายามรู้สึกตัวเรื่อยๆ

แล้วมีอะไรเกิดขึ้นในกาย คอยรู้

มีอะไรเกิดขึ้นในใจ คอยรู้

อย่างนี้เรียกว่ามีสติอยู่ มีสมาธิ มีใจอยู่กับตัวเอง

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๖๑ ไฟล์ 610512B แผ่นที่ ๗๖

Select your language