Dhamma together:เริ่มต้น ปีใหม่ วันใหม่ ด้วยใจใหม่

พระพุทธองค์ทรงชี้ทางแก่ผู้มาหา...มาฝึกกับพวกเราสิ...


ทุกวันเราควรตื่นขึ้นมาด้วยใจที่สดใสเปิดใจ

รับปัจจุบันด้วยความรู้สึกสดชื่นเบิกบาน

และไม่หมกมุ่นหรือเอาอารมณ์ใด ๆ มาหมักหมม

จนเป็นพิษแก่จิตใจ จิตที่สดใหม่นี้แหละที่จะทำให้

ปีใหม่มาพร้อมกับชีวิตใหม่อย่างแท้จริง อีกทั้งยัง

ทำให้ทุกวันเป็นวันใหม่ของชีวิต แม้กิจวัตรประจำวัน

ยังเหมือนเดิม แต่ทุกชั่วโมง ทุกนาที และทุกวินาที

จะใหม่เสมอ สามารถนำประสบการณ์ใหม่ ๆ มาสู่

ใจเรา


อีกทั้งยังสามารถเปิดใจเราให้เข้าถึงธรรมอัน ลุ่มลึกได้ทุกขณะ แม้จะยังอยู่บ้านหลังเดิม

ขับรถคันเดิม ใช้ของเดิม ๆ แต่ก็มีความสุขทุกขณะ หมั่นทำความดีทุกครั้งที่มีโอกาส

เพราะความดีที่เราทำนี้แหละจะเป็นเสมือนน้ำสะอาดที่ชำระความเศร้าหมองและสิ่งอกุศล

ไปจากจิตใจ อีกทั้งยังชโลมใจให้สดชื่นเบิกบานด้วย ถ้ารักตน อยากให้สิ่งดี ๆ แก่ตน ก็พึง

ทำความดีอยู่เสมอ

พระไพศาล วิสาโล

Dhamma together:คุณลักษณะสำคัญของไทย ที่ช่วยให้ชาติบ้านเมืองอยู่รอดเป็นอิสระ

พระพุทธองค์ทรงชี้ทางแก่ผู้มาหา...มาฝึกกับพวกเราสิ...



“…ความสามัคคีปรองดองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

กับความรักใคร่เผื่อแผ่ช่วยเหลือกันฉันญาติ พี่น้อง

สองประการนี้ คือคุณลักษณะสำคัญของไทย

ที่ช่วยให้ชาติบ้านเมืองอยู่รอดเป็นอิสระ

และเจริญมั่นคง มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน…” .

ความบางตอนของพระราชดำรัส

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

บรมนาถบพิตร พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทย

ในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ พ.ศ. ๒๕๓๒

วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๓๑

Dhamma together:พรปีใหม่ ให้ได้ ๙ ต่อไป

พระพุทธองค์ทรงชี้ทางแก่ผู้มาหา...มาฝึกกับพวกเราสิ...

"พรปีใหม่ ๙ ประการ "

ทุก ๙ ย่าง เพื่อชีวิตที่ ๙ ไกล

๙ หน้า

๙ ไป

๙ ให้ถึงจุดหมาย

คือ...


๑. อย่าโกรธกันข้ามปี อย่าราวีข้ามชาติ

Don't be angry into the new year,

Don't harass into the next life.

๒. ลืมความหลัง ตั้งต้นใหม่ Stop the past, start the new.

๓. แค่ปล่อยก็ลอยตัว Let it go.

๔. อยู่กับปัจจุบัน Being in the here and now.

๕. ปัญญา สุขภาพดี มีความสุข Wisdom, health,

happiness




๖. ทำให้ดีที่สุด ณ จุดที่ทำ

Whatever you're doing,

do it to the best of your ability.

๗. โลกทั้งผอง เป็นพี่น้องกัน

We are all brothers and sisters.

๘. ไม่มีวันนี้สองครั้ง Today only comes once.

๙. โชติช่วงดั่งดวงตะวัน As bright as the sun.

ว.วชิรเมธี

 

Dhamma together:พรุ่งนี้ กับชาติหน้า อะไรจะมาก่อน

พระพุทธองค์ทรงชี้ทางแก่ผู้มาหา...มาฝึกกับพวกเราสิ...



พรุ่งนี้ กับชาติหน้า อะไรจะมาก่อน ไม่มีใครตอบได้

สิ่งเดียวที่เป็นของเราคือเดี๋ยวนี้ วันข้างหน้าไม่ใช่

ของเรา เราอาจไม่ได้รับรู้เหมือนวันนี้ถ้าเราเป็นอะไรไป

ชั่วโมงข้างหน้าก็ไม่ใช่ของเรา ไม่มีใครรับประกันว่า

นาทีข้างหน้าเราจะคิดอะไร ไม่เชื่อลองนั่งสมาธิดู

นั่งไปแป๊บเดียวฟุ้งแล้ว ฉะนั้น....

การให้ความสำคัญกับสิ่งที่มีอยู่ปัจจุบันนี้สำคัญที่สุด

ไม่ใช่แค่เวลานะ

แต่หมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่เรามี

 


พระไพศาล วิสาโล

Dhamma together:"มนุษย์ที่ไม่มีศีล คือกองเพลิง"

พระพุทธองค์ทรงชี้ทางแก่ผู้มาหา...มาฝึกกับพวกเราสิ...




"มนุษย์ที่ไม่มีศีล คือกองเพลิง" เพราะมนุษย์ที่ไม่มีศีล

เป็นรั้วกั้นและเป็นเครื่องประดับตัวเสียเลยก็คือ

กองเพลิงแห่งมนุษย์เราดีๆนี่เอง การเบียดเบียนและ

การทำลายกันย่อมมีไปทุกหย่อมหญ้าและทั่วโลก

ดินแดน ไม่มีเกาะไม่มีคอนพอจะเอาศีรษะซุกนอนให้

หลับสนิทได้โดยปลอดภัย แม้โลกจะเจริญด้วยวัตถุจน

กองสูงกว่าพระอาทิตย์บนท้องฟ้า แต่ความรุ่มร้อนแผด

เผาจะทวีคูณยิ่งกว่าพระอาทิตย์เป็นไหนๆ โลกจะไม่มีที่

ปลงใจได้เลย ถ้ายังมัวคิดว่า วัตถุมีคุณค่ายิ่งกว่า

ศีลธรรมอยู่

เพราะศีลธรรมเป็นสมบัติของจอมมนุษย์ คือ พระพุทธเจ้าผู้ค้นพบและนำมาประดับโลก

ที่กำลังมืดมัวกลัวทุกข์ พอให้สว่างไสวร่มเย็นควรอาศัยได้บ้างด้วยอำนาจศีลธรรมเป็น

เครื่องปัดเป่ากำจัด ลำพังความคิดของมนุษย์ที่มีกิเลสคิด ผลิตอะไรออกมาทำให้โลกร้อนจะ

บรรลัยอยู่แล้ว ยิ่งจะปล่อยให้คิดตามอำนาจโดยไม่มีกลิ่นแห่งศีลธรรมช่วยเป็นยาแก้และ

ชะโลมไว้บ้างก็น่ากลัว ความคิดนั้นๆจะผลิตยักษ์ใหญ่ตัวโหดร้ายที่ทรงพิษขึ้นมากี่แสนกี่ล้าน

ตัวออกเที่ยวหากว้านกินมนุษย์ให้ฉิบหายกันทั้งโลกไม่มีอะไรเหลืออยู่บ้างเลย

"พระอาจารย์ลี ธัมมธโร" วัดอโศการาม อ.เมือง จ.สมุทรปราการ

Dhamma together:เอากระเป๋าสตางค์ ใส่ไว้ในอกเสื้อ แล้วคุณจะพบแต่ความสุขความเจริญ..

พระพุทธองค์ทรงชี้ทางแก่ผู้มาหา...มาฝึกกับพวกเราสิ...

เรื่องเหรียญกับธนบัตรซึ่งมีพระบรมฉายาลักษณ์อยู่นั้น อย่าได้ประมาทว่าเป็นของเล็กน้อย

ซึ่งใครที่ทำการ อันไม่บังควรก็อาจจะเกิดเหตุอันไม่เป็นสิริมงคล แก่ผู้ล่วงละเมิดได้ สมัยหนึ่ง

มีชายหญิงคู่หนึ่ง ทำการค้าอะไรก็ขาดทุน ล่มจมเป็นอันมาก ทั้งสองคนกลุ้มใจไม่รู้ว่าเป็น

เพราะอะไร ควรจะแก้ไขอย่างไร วันหนึ่งได้ยินกิตติศัพท์เล่าลือหนาหูถึงท่านเจ้าคุณนรรัตน์ ฯ

วัดเทพศิรินทร์ ว่าเป็นพระอริยสงฆ์ ผู้ทรงคุณอันประเสริฐ จึงได้เดินทางไปเฝ้ารอท่านที่

ระหว่างทางเดินจากกุฏิมาโบสถ์ เมื่อท่านทำวัตรเย็นเสร็จก็ได้กราบขอความเมตตา

เล่าเหตุการณ์โดยย่อถวาย ท่านนิ่งไประยะหนึ่งก็ถาม ชายหญิงทั้งสองว่า

"ปกติแล้ว คุณเอาสตางค์ไว้ที่ไหน ?"

อาผู้ชายตอบว่า "ใส่ไว้ในกระเป๋ากางเกงครับ.."

เมื่อได้ฟัง ท่านเจ้าคุณนรรัตน์ ฯ จึงพูดเชิงสั่งสอน ไปเลยทีเดียวว่า "



"พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นพระโพธิสัตว์ คุณเอารูป

พระโพธิสัตว์ไปใส่ไว้ในกางเกงได้หรือ การที่คุณเอาธนบัตรที่

มีรูปในหลวงไปใส่ไว้ใน กระเป๋ากางเกงนั้น ไม่ดีเลย

เพราะในหลวงท่านเป็น พระโพธิสัตว์ การเอาพระรูปของท่าน

ไปไว้ในที่ต่ำ อย่างนั้น ย่อมบังเกิดโทษเป็นอันมาก

ทีหลังอย่า พากันทำ ต่อไปนี้ให้เอาสตางค์ไส่ไว้ในกระเป๋า

เสื้อนะ ถ้าสตางค์อยู่ในกระเป๋าสตางค์ ก็ให้เอากระเป๋าสตางค์

ใส่ไว้ในอกเสื้อ แล้วคุณจะพบแต่ความสุขความเจริญ.."

เมื่อกราบลากลับมาแล้ว ชายหญิงทั้งคู่ก็ไม่เคยเอาเงิน ใส่กระเป๋ากางเกงหรือไว้ที่ต่ำอีกเลย

และต่อมา บุคคล ทั้งสอง ได้ร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐี มั่งมีทรัพย์สินเงินทอง นับเป็นร้อยๆล้าน

ไปเรียบร้อย สมดังคำของท่านเจ้าคุณ นรรัตน์ฯไปเรียบร้อยแล้ว...... และความเป็น

"พระโพธิสัตว์"ของในหลวงนั้น ก็เป็นถึงระดับ "นิยตโพธิสัตว์"ผู้เที่ยงแท้ต่อพระโพธิญาณใน

อนาคตกาล เบื้องหน้าโน้นอย่างแท้จริงด้วย

สมจริงดังที่หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร สำนักสงฆ์ถ้ำผาปล่อง เชียงใหม่ ได้กล่าว รับรองไว้ด้วย

องค์เองทีเดียวว่า "ครูบาขาวปี วัดพระพุทธบาทผาหนามเคยเป็นช้างนาฬาคิริง ส่วนในหลวง

องค์ปัจจุบันเป็นช้างป่าเลไลยก์นะ เมื่อได้ทราบ"ความนัย" ดังนี้แล้ว ก็ขอให้ท่านทั้งหลาย

จงอย่าได้ประมาทใน"พระบรมฉายาลักษณ์"ขององค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ว่าจะ

เป็นด้วยกรณีใดๆ อีกต่อไป ชีวิตของท่านทั้งหลายก็คงจะประสพแต่ความ เจริญรุ่งเรืองโดย

ทั่วกันทีเดียว..

Dhamma together:เราต้องประพฤติให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติซึ่งเป็นเจ้าของที่แท้จริง

พระพุทธองค์ทรงชี้ทางแก่ผู้มาหา...มาฝึกกับพวกเราสิ...

ตามกฎของธรรมชาติ คำกล่าวที่น่าสนใจก็มีอยู่เช่นคำกล่าวที่ว่า "มันเหมือนกับเจ้าของยืม"

พระพุทธเจ้าก็ได้กล่าวอย่างนี้ว่า ไอ้ทุกสิ่งที่มันมาเป็นเรา เกี่ยวข้องกับเรา เราสมมุติ ว่า

เป็นเรา เป็นของเรา เราว่าเอาเองๆ ด้วยความโง่ของเรา ว่าสิ่งนี้ตัวเรา ว่าสิ่งนี้ของเรา นี่เราว่า

เอาเองด้วยความโง่ของเรา ที่แท้มันเป็นของธรรมชาติ ผู้ที่รู้จึงมองเห็น รู้สึกว่ามันเหมือนกับ

ของยืม ต้องคืนเจ้าของ ตามสมมุตินี้ของที่ยืมมามันต้องคืนเจ้าของในสภาวะที่ถูกต้อง

จะทำให้ผิดพลาดไปจากนั้นมันไม่ได้ อะไร ๆ ที่มันเข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตก็ดี หรือตัวชีวิตเอง

ก็ดี มันล้วนแต่เป็นของยืม คือยืมมาจากธรรมชาติซึ่งมีกฎของธรรมชาติควบคุมอยู่


เราต้องประพฤติให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติซึ่งเป็น

เจ้าของที่แท้จริง เจ้าของที่แท้จริงเขาสร้างไว้อย่างไร

เราต้องทำอย่างนั้น แล้วเราก็ไม่ทะเลาะกับเจ้าของคือ

กฎของธรรมชาติ มันก็ไม่มีเรื่อง เพราะไม่ทะเลาะกัน

ถ้าทะเลาะกันเราสู้ไม่ได้ เราเป็นฝ่ายแท้ทุกทีเราต้องเป็น

ทุกข์ทุกที นั้นเราต้องรู้จักธรรมชาติทำให้ถูกต้องตาม

กฎของธรรมชาติ ไม่ต้องใช้คำว่า ง้องอน อ้อนวอนอะไร

นักก็ได้ ไม่ต้องถึงอย่างนั้นก็ได้ ขอแต่ว่าให้มันถูกต้อง

ตรงตามกฎของธรรมชาติ


การพยายาม การที่พยายามให้ ถูกตรงตามกฎของธรรมชาตินั่นแหละมันเป็นการง้องอน

อ้อนวอน ขอร้อง ให้โปรดปรานอยู่ในตัวแล้ว นั้นเอาแต่เพียงว่าเรามีความรู้ดีที่สุด ทำให้

ดีที่สุดให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ แล้วธรรมชาติก็จะไม่ทำให้เราเจ็บปวด เป็นทุกข์อะไร

ชีวิตนี้มันมีอย่างนี้เอง มันมีชีวิต มีจิต มีความรู้สึก มีกายเป็นที่ตั้งแห่งความรู้สึก แล้วมันก็มี

เครื่องติดต่อเกี่ยวข้องกับภายนอกคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่าเห็นอะไรให้มากไปกว่าว่า

มันเป็นเครื่องติดต่อกับสิ่งภายนอก เราจึงไม่หลงบูชาความเอร็ดอร่อยทางตา ทางหู ทางจมูก

ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ เพราะว่าธรรมชาติให้ยืมมาสำหรับเป็นเครื่องใช้ติดต่อกับสิ่ง

ภายนอก ให้มาร่วมมือกับสิ่งภายใน ช่วยกันให้ชีวิตตั้งอยู่ได้ก็พอแล้ว ถ้าเราทำเกินนั้น

เรียกได้ว่าเราเป็นคนโกหก หลอกลวง คดโกง ขบถต่อเจ้าของเดิม มันก็ต้องถูกลงโทษคือ

เป็นทุกข์

พุทธทาสภิกขุ

Dhamma together:สันติสุขและความสุขภายใน

พระพุทธองค์ทรงชี้ทางแก่ผู้มาหา...มาฝึกกับพวกเราสิ...

มนุษย์ทุกคนล้วนรักตนเอง แต่น่าแปลกที่คนส่วนใหญ่กลับไม่สามารถอยู่กับตัวเองได้ หากอยู่คนเดียว

เมื่อไหร่ ไม่นานก็จะรู้สึกกระสับกระส่าย หรือถูกความเหงาเกาะกุมจิตใจ คนจำนวนไม่น้อยจึงพยายาม

หนีตัวเอง ด้วยการทำตนให้วุ่นกับสิ่งต่างๆที่อยู่นอกตัว เช่น เที่ยวเตร่สนุกสนาน ช็อปปิ้งเล่นเกม

ออนไลน์ หรือไม่ก็วิ่งหาผู้คน สนทนาไม่หยุด อยู่ห่างจากโทรศัพท์ (และแบล็คเบอรี่) ไม่ได้ หลายคน

ยอมแลกอิสรภาพและความสุขสงบ เพื่อมีใครสักคนเป็นเพื่อนหรือคู่รัก แม้จะถูกเขาทำร้ายจิตใจก็ยอม

ทั้งนี้เพียงเพื่อจะได้หายเหงาเท่านั้นเอง เรารักตนเองแต่เหตุใดจึงทนอยู่กับตนเองไม่ได้ หากเรารัก

ตนเองจริง เราย่อมพอใจและมีความสุขที่ได้อยู่กับตัวเอง แต่เหตุใดเราจึงรู้สึกเหงาในยามที่ไม่มีใคร

นอกจากตัวเองใช่หรือไม่



นั่นเป็นเพราะเรายังไม่เป็นมิตรกับตัวเอง ในส่วนลึกเรายัง

ทะเลาะเบาะแว้งหรือขัดแย้งกับตัวเอง จึงพยายามหนี

ตัวเองตลอดเวลา จะว่าไปแล้วความทุกข์ส่วนใหญ่ของ

ผู้คน ล้วนมีรากเหง้ามาจากการที่ไม่สามารถเป็นมิตรกับ

ตัวเองได้อย่างแท้จริง ต่อเมื่อเป็นมิตรกับตัวเอง

เราจึงจะพบสันติสุขภายใน และสามารถอยู่คนเดียวได้

โดยความเหงาไม่อาจลุกล้ำกล้ำกลายจิตใจได้

 เมื่อมีความสุขจากภายใน ก็ไม่จำเป็นต้องไล่ล่าหาความสุข จากภายนอก ไม่ว่า

ทรัพย์สิน เงินทอง ชื่อเสียง เกียรติยศ หรือผู้คนที่คอยพะเน้าพะนอ ตรงกันข้าม

กลับสามารถ แบ่งปันความสุข ให้แก่ผู้อื่นได้ไม่ขาดสาย ไม่ว่าจะอยู่ ที่ไหนก็เป็นสุข

และอบอุ่นใจ ทุกสถานที่เป็นเสมือนบ้าน ทั้งนี้เพราะมีตนเองเป็นเพื่อนสนิทที่ตามติด

ไปทุกหนแห่ง...

พระไพศาล วิสาโล

Dhamma tohether:มรณกรรมฐาน

พระพุทธองค์ทรงชี้ทางแก่ผู้มาหา...มาฝึกกับพวกเราสิ...



ถ้าผู้ปฏิบัติน้อมรำลึกถึงในมรณกรรมฐาน ไม่ว่าจะเห็นคน

เห็นสัตว์ ป่าไม้ ป่าดงพงพี ก็เห็นความตายแตกดับ ความตาย

ของคนของสัตว์ ของต้นไม้ ใบหญ้า ผลที่สุดที่เกิดมาแล้ว

ก็ต้องมีความแตกดับทำลายตายไปเป็นธรรมดา ใครจะมายึด

ว่าตัวเราของเราก็ไม่ได้ทั้งนั้น ยึดไปเถิด เมื่อถึงความตายก็

ต้องทิ้ง ไม่ทิ้งก็จำใจทิ้ง 

เมื่อจิตใจของผู้ภาวนา ภาวนาเข้าถึงขั้นมรณกรรมฐานแล้ว ไม่ห่วงใคร บ้านก็ไม่ห่วง

ลูกเต้าก็ไม่ห่วง ลูกหลานเหลน โหลน อะไรไม่ห่วงทั้งนั้น เพราะมันเล็งเห็นแจ้งชัดว่าตายแล้ว

เอาอะไรไปไม่ได้"

หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร

Dhamma together:ทำอย่างไรใจจึงจะไม่เป็นทุกข์เมื่อเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้น

พระพุทธองค์ทรงชี้ทางแก่ผู้มาหา...มาฝึกกับพวกเราสิ...

คุณป้าคนหนึ่งไม่สบายไปหาหมอหลายครั้ง ไม่รู้ว่าเป็นอะไร วันหนึ่งหมอบอกว่าป้าเป็นมะเร็งตับนะ อยู่ได้

ไม่เกิน ๓ เดือน ป้าตกใจมาก กลับบ้านก็กินไม่ได้นอนไม่หลับ ทั้งตื่นตระหนกและหมดอาลัยตายอยากใน

ชีวิต อยู่ได้แค่ ๑๒ วันก็ตาย อย่างนี้เรียกว่าตายเร็วเพราะวิตกกังวลสารพัด บางคนป่วยเป็นมะเร็ง หมอบอก

ว่าอยู่ได้ ๓ เดือน แต่อยู่ได้ ๓-๕ ปีก็มี



ดังนั้นความเจ็บป่วยนั้นมันไม่ใช่เรื่องของกายอย่างเดียว

ใจก็สำคัญด้วย หากวิตกกังวลแทนที่จะมีสติ ปล่อยให้ใจ

ฟุ้งซ่าน ไปต่าง ๆ นานา ก็จะตายเร็ว ถ้าไม่อยากตายเร็ว

ก็ควรหันมาปฏิบัติธรรม การปฏิบัติธรรม ส่วนหนึ่งก็เพื่อ

ฝึกจิตเพื่อให้มีสติและปัญญา ปฏิบัติธรรมเพื่อรักษาจิต

ดูแลใจไม่ให้ปรุงแต่ง ไม่เผลอรับคำเชิญของสิ่งต่าง ๆ

ที่มาชวนให้เป็นทุกข์  กายป่วยแต่ใจไม่ป่วยก็ได้

ทรัพย์สมบัติสูญเสียไป ใจไม่เสียศูนย์ก็ได้ คนรักตาย

จากไปแต่ใจเป็นปกติก็ทำได้เช่นกัน

 

ถ้าเราปฏิบัติธรรมจนเกิดปัญญา แม้มีสิ่งร้าย ๆ มากระทบ เราไม่เพียงปกติเท่านั้น แต่กลับจะเข้มแข็ง

กว่าเดิมด้วย มีคุณแม่ท่านหนึ่งเล่าว่า หลายปีก่อน ลูกชายขอไปเรียนต่อที่อินเดีย เขาเป็นเด็กดี

มีความรับผิดชอบสูง แม่จึงอนุญาตให้ไป แต่ไปอินเดียได้ไม่กี่เดือนลูกก็เกิดอุบัติเหตุจมน้ำตาย

แม่เศร้าโศกเสียใจมาก และรู้สึกผิดด้วย เอาแต่โทษตนเองว่าทำให้ลูกตาย เธอเสียศูนย์มาก

ทำการทำงานไม่ได้เลย แทบไม่เป็นผู้เป็นคน ต่อมามีคนชวนให้เธอไปปฏิบัติธรรม เมื่อได้มีโอกาส

ฟังธรรม จึงเข้าใจว่า แต่ละคนมีกรรมเป็นของตน และได้ตระหนักว่า

ความตายและการสูญเสียพลัดพรากเป็นเรื่องธรรมดา ทำให้คลายความเศร้า ขณะเดียวกันเมื่อได้

เจริญสติ เวลามีความรู้สึกผิดเกิดขึ้น ก็ดูมัน ไม่กดข่มผลักไสมัน ในที่สุดความรู้สึกผิดก็ไม่มารบกวน

จิตใจต่อไป ทำให้จิตใจมีความสงบเย็น เป็นความสุขที่ไม่เคยประสบมาก่อน การปฏิบัติธรรมทำให้

คุณแม่ท่านนี้กลับมาใช้ชีวิตได้เป็นปกติ เข้มแข็งและมีความสุขกว่าเดิม เธอบอกว่าขอบคุณ

ความตายของลูกที่ทำให้แม่เห็นธรรมะ อย่างนี้เรียกว่าเปลี่ยนร้ายกลายมาเป็นดี จะทำอย่างนั้นได้

ต้องอาศัยธรรมะ หลายคนเข้าหาธรรมะเพราะเป็นมะเร็ง เพราะกลัวตาย แต่พอมาสนใจธรรมะ จึงรู้ว่า

ความเจ็บป่วยไม่ใช่เรื่องร้ายเสมอไป อีกทั้งสมาธิภาวนายังทำให้พบความสุขสงบเย็นอย่างที่ไม่เคย

พบมาก่อน การปฏิบัติธรรมหรือการทำบุญ ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าเราจะไม่เจ็บ ไม่ป่วย ไม่เจอ

ความพลัดพราก สูญเสีย บางคนทำบุญสม่ำเสมอมาตลอด วันหนึ่งเป็นมะเร็ง ก็ตัดพ้อต่อว่า

ทำไมฉันเป็นมะเร็ง ทั้งที่ทำบุญมาตลอดชีวิต? การรักษาศีลและทำบุญ ทำให้เกิดสุขก็จริง

แต่ก็ป้องกันความทุกข์ได้ระดับหนึ่ง ไม่ถึงกับป้องกันได้ทั้งหมด ถ้าเราถือศีล ๕ ไม่กินเหล้า

เรามีสติสัมปะชัญญะ ก็จะไม่เกิดอุบัติเหตุกับเราง่าย ๆ โอกาสที่จะขับรถชนต้นไม้หรือแหกโค้ง

จนพิการมีน้อยมาก แต่บางครั้งอาจจะมีรถคันอื่นแล่นมาชนรถเราได้เหมือนกัน ประมาณ ๔๐ ปีก่อน

เกิดไฟไหม้ใหญ่ที่กลางเมืองสุรินทร์ ผู้คนสิ้นเนื้อประดานับพัน บางคนตัดพ้อว่าทำบุญมามาก

ทำไมบุญไม่รักษา ธรรมไม่คุ้มครอง บางคนเสื่อมศรัทธาในการทำบุญ ทำทานไปเลย

ถึงกับบอกว่าจะไม่เข้าวัดแล้ว หลวงปู่ดูลย์ อตุโล เจ้าอาวาสวัดบูรพาราม

ซึ่งอยู่กลางเมืองสุรินทร์ ได้ยิน จึงพูดเตือนสติว่า

“ไฟมันทำตามหน้าที่ของมัน ธรรมะไม่ได้ช่วยใครในลักษณะนั้น หมายความว่า ความอันตรธาน

ความวิบัติ ความเสื่อมสลาย ความพลัดพรากจากกัน สิ่งเหล่านี้มันมีประจำโลกอยู่แล้ว ทีนี้ผู้มีธรรมะ

ผู้ปฏิบัติธรรมะ เมื่อประสบกับภาวะเช่นนั้นแล้ว จะวางใจอย่างไรจึงไม่เป็นทุกข์ อย่างนี้ต่างหาก

ไม่ใช่ธรรมะช่วยไม่ให้แก่ ไม่ให้ตาย ไม่ให้หิว ไม่ให้ไฟไหม้ ไม่ใช่อย่างนั้น”

คนที่ปฏิบัติธรรมจนเข้าถึงธรรมจะไม่คาดหวังว่าเหตุร้ายเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นกับตน

เพราะเขารู้ว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา แต่เขาจะสนใจว่า ว่าทำอย่างไรใจจึงจะไม่เป็นทุกข์

เมื่อเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้น

ข้อธรรม คำสอน พระไพศาล วิสาโล

Dhamma together:ความสำคัญของวินัยเพื่อผลในระยะยาวคุ้มค่า

พระพุทธองค์ทรงชี้ทางแก่ผู้มาหา...มาฝึกกับพวกเราสิ...

การกระทำของเราแบ่งออกได้เป็น ๔ ประเภทได้โดยเอาความสุขและความทุกข์เป็นหลัก คือ

๑ ทุกข์เพื่อทุกข์

๒ ทุกข์เพื่อสุข

๓ สุขเพื่อทุกข์

๔ สุขเพื่อสุข

      การกระทำข้อที่หนึ่งไม่เป็นปัญหา เพราะสิ่งที่ทำด้วยความยากลำบากและมีผลเป็นทุกข์

ไม่มีใครสนใจอยู่แล้ว ข้อที่สี่ก็เหมือนกัน สิ่งใดที่ทำอย่างมีความสุขแล้วมีผลคือความสุขใครๆ

ก็อยากจะทำอยู่แล้ว

     ปัญหาของมนุษย์มักจะอยู่ที่ข้อสองกับสาม คือทำอย่างไรเราจึงจะยอมทำสิ่งที่ตรากตรำ

หรือยากลำบากเมื่อผลในระยะยาวคุ้มค่า แล้วทำอย่างไรเราจึงจะยอมงดในสิ่งที่เราชอบทำแต่

มีผลร้ายตามมา ตรงนี้เราจึงเห็นความสำคัญของวินัย วินัยเกิดขึ้นอย่างไร?


วินัยที่แท้ต้องเกิดจากภายใน ไม่ใช่การบังคับจาก

ภายนอก เกิดด้วยความอดทนข้อหนึ่ง แต่ที่สำคัญ

ที่สุดคือความคิดแยบคายโดยเฉพาะการพิจารณา

ในอานิสงส์ผลดีของการกระทำที่ไม่สนุกแต่ควรทำ

และโทษผลร้ายของการกระทำที่สนุกแต่ไม่ควรทำ

ถ้าเราพิจารณาอย่างถี่ถ้วนเป็นเนืองนิตย์ในสอง

ข้อนี้ ทั้งในแง่ผลกระทบต่อสุขภาพกาย สุขภาพจิต

ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างทั้งในระยะสั้น

และระยะยาว แรงบันดาลใจที่จะงดในสิ่งที่ควรงดและ

บำเพ็ญในสิ่งที่ควรบำเพ็ญจะตามมาเอง 


สรุปแล้วว่าวินัยที่มั่นคงและเป็นที่พึ่งได้เกิดจากแรงบันดาลใจ (ฉันทะ) บวกความอดทน

ซึ่งเป็นผลของความคิดแยบคาย (โยนิโสมนสิการ)

พระอาจารย์ชยสาโร

Dhamma together:บำเพ็ญ ทาน ศีล ภาวนา

พระพุทธองค์ทรงชี้ทางแก่ผู้มาหา...มาฝึกกับพวกเราสิ...



บำเพ็ญทาน เปรียบเหมือน กินข้าว

บำเพ็ญศีล เปรียบเหมือน กินของหวาน

บำเพ็ญภาวนา เปรียบเหมือน กินน้ำ

การเจริญภาวนา เรียกว่า เก็บบุญมากิน

ถ้าเราไม่เก็บมากิน มันก็จะเน่าเสียหมด

ถ้าไม่กลืนเข้าไปในหัวอกหัวใจ มันก็ไม่อิ่ม

"ตา" ได้เห็นครูบาอาจารย์ พระเจ้าพระสงฆ์

"หู" ได้ฟังเทศน์ฟังธรรม

"จมูก" ได้กลิ่นธูปเทียนดอกไม้

"ปาก" ได้สวดมนต์

"ใจ" ได้เจริญเมตตาภาวนา"

"บุญกุศล" จะไหลเข้าดวงจิต ดวงใจ

โอวาทธรรม ท่านพ่อลี ธมฺมธโร

Dhamma together:วักขยญาณ

พระพุทธองค์ทรงชี้ทางแก่ผู้มาหา...มาฝึกกับพวกเราสิ...




ครั้งหนึ่งได้ยินท่านอาจารย์ (ท่านพ่อลี ธัมมธโร)

ท่านพูดว่า ไปอินเดียแล้วก็ปรากฏว่า มีฝรั่งมา มีแขก

คนหนึ่งนั่งเพ่งตปะนี่ เอาใบไม้มารวมๆ กองเข้าแล้ว

ก็สามารถจะเพ่งให้ใบไม้นั่นลุกขึ้นมา ฝรั่งมาดูกัน

เห็นท่านว่าอย่างนั้น นี่อำนาจของใจของเขา ก็มี

ความเข้มแข็งเด็ดเดี่ยวเหมือนกัน แต่พระพุทธเจ้าของ

เรานั้น ไม่ทรงสรรเสริญในสิ่งเหล่านั้น สรรเสริญใน

"อาสวักขยญาณ" คือทำใจให้หมดไปจากกิเลสนี้

เป็นสิ่งที่ประเสริฐ...

พระองค์ทรงยกย่องอันนี้ เพราะสิ่งเหล่านั้นเมื่อบุคคลกระทำได้แล้ว ไปเพลิดเพลินกับงานการ

กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือคลุกคลีกับหมู่คณะมากเข้า โดยไม่ได้บำเพ็ญแล้วฌานนั้นก็จะเสื่อมลง

พอเสื่อมลงก็เหมือนกันคนธรรมดาเรานี้เหมือนกันอย่างนั้น ส่วนพระพุทธเจ้าของเราหรืออริย

เจ้าผู้ที่สำเร็จ ทำอาสวะของตนให้สิ้นไปอย่างนั้น ไม่เป็นอย่างนั้น ทำไมจึงว่าไม่เป็นเช่นนั้น

ก็เพราะว่าใจของท่านมันมี "สติ" มึความสังวรในเรื่องสติ สังวรในอารมณ์ของใจอยู่ได้ตลอด

สิ่งใดที่เกิดขึ้น ความรู้สึกตัวนั้นมันก็มาทับ ของความที่เกิดขึ้นกับใจนั้น เมื่อมีความรู้สึกอย่าง

นั้นมีสติระลึกอยู่อย่างนั้นแล้ว อารมณ์ที่เกิดขึ้นก็ย่อมดับไป นี่เปรียบเทียบอย่างนั้น เพราะ

ฉะนั้น อย่างเรานี่เหมือนกัน เวลาภาวนานั้นก็ต้องอาศัยความสังเกตสังกาลำดับของใจลงไป

เมื่อใจนั้นตั้งมั่นแข็งแรงมีสมาธิดีแล้ว อย่างนั้นเป็นต้น ก็ควรจะต้องพินิจพิจารณา อันนี้เป็น

หลักสำคัญที่สุด

"พระอาจารย์เจี๊ยะ จุนฺโท" วัดป่าภูริทัตตปฏิปทาราม

Dhamma together:ความสุขชนิดหนึ่งที่ให้ความอิ่มความพอ

พระพุทธองค์ทรงชี้ทางแก่ผู้มาหา...มาฝึกกับพวกเราสิ...


พวกเราจึงถือว่าโชคดี ที่ได้มาเกิดในยุคที่มีพระพุทธศาสนา มีโอกาส

ที่จะตักตวงประโยชน์จากพระศาสนา คือการสิ้นสุดแห่งการเวียนว่าย

ตายเกิด ดังที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลายได้ตักตวง ไม่ต้อง

ไปเวียนว่ายตายเกิด ที่เหมือนกับการเดินทางในทะเลทราย ไม่มี

ความสุขเลย มีแต่ความร้อนแห้งผาก ความหิวกระหาย นานๆจะได้ไป

เจอเกาะกลางทะเลทราย ที่มีบ่อน้ำมีต้นไม้อยู่นิดหน่อย ให้ได้พักผ่อน

หย่อนใจ ไม่นานก็ต้องออกเดินทางต่อไปอีก เพราะใจไม่มีความสุข

อยู่ที่ไหนก็ไม่พอใจ ต้องหาอะไรมาเพิ่มอยู่เรื่อยๆ อยู่ที่นี่ก็อยากจะไป

ที่โน่น พอไปที่โน่นก็อยากจะกลับมาที่นี่ เพราะธรรมชาติของกิเลส

เป็นอย่างนี้


จะหลอกให้ไปหาสิ่งต่างๆอยู่เรื่อยๆ พอถึงเกาะนี้แล้วแทนที่จะพักไปนานๆ อยู่ได้เดี๋ยวเดียวก็เบื่อ ต้องหา

เกาะใหม่อีก ต้องไปลุยกลางทะเลทรายอีก จนกว่าจะไปถึงเกาะใหม่ แล้วก็ไปต่ออีก เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ

มาเกิดเป็นมนุษย์แล้วตายไป ก็ต้องไปเกิดเป็นอย่างอื่นอีก ต่อไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าตราบใดยังไม่ได้

กำจัดต้นเหตุที่พาให้ไปเกิด คือความโลภ ความโกรธความหลง ที่หลอกให้ไปหาความสุขภายนอก

เพราะความหลงคือการไม่เห็นความสุขที่แท้จริง ที่มีอยู่ในใจ ที่เกิดจากความสงบระงับของความโกรธ

ความโลภความหลง มันยากตรงนี้ ความหลงไม่เห็นโทษของตัวมันเอง จึงไม่ทำลายตัวมันเอง จะหลง

มากขึ้นไปเรื่อยๆ ด้วยการไปหาความสุขจากภายนอก ที่ไม่ใช่เป็นความสุขที่แท้จริง เป็นความสุขที่มี

ความทุกข์เจือปนอยู่ด้วย เป็นความสุขที่ไม่ให้ความอิ่มความพอ ได้เท่าไหร่ก็ต้องหาใหม่อยู่เรื่อยๆ

มีความสุขชนิดหนึ่งที่ให้ความอิ่มความพอ ไม่มีความทุกข์เจือปน แต่ไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหน ต้องมี

พระพุทธเจ้ามาชี้บอก ว่าอยู่ในใจเรานี้เอง.

กำลังใจ๓๖ กัณฑ์ที่ ๓๗๓

๒๓ กันยายน ๒๕๕๐

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

Dhamma together:ฝึกตนให้เกิดความเข้มแข็งภายใน

พระพุทธองค์ทรงชี้ทางแก่ผู้มาหา...มาฝึกกับพวกเราสิ...



ทุกๆ ขณะ เราหลงยึดมั่นถือมั่นในส่วนใดส่วนหนึ่งของกายหรือใจ

ว่าเป็นตัวเราหรือของเรา เราเอ่ยปากว่า 'ร่างกายของฉัน'

'ความรู้สึกของฉัน' 'ความคิดของฉัน' 'ความหวังของฉัน'

'ความกลัวของฉัน' และอื่นๆ อีกมากมาย แต่ถ้าสิ่งเหล่านี้เป็นของ

เราอย่างแท้จริงแล้ว ทำไมเรามีอำนาจควบคุมมันน้อยนิดเหลือเกิน

ยกตัวอย่างเช่น ทำไมเราเลือกไม่ได้ว่าจะวิตกกังวลให้น้อยลง

และมีความสุขให้มากขึ้น ทำไมเราห้ามร่างกายนี้ไม่ให้แก่ไม่ได้

ในแง่ไหนบ้างที่ร่างกายและจิตใจนี้เป็นของเราจริงๆ พระพุทธองค์

ทรงสอนว่าความหลงผิดว่ามี 'ตัวตน' ที่เที่ยงแท้ถาวรและเป็นอิสระ

จากเหตุปัจจัยอื่นเป็นผู้ครอบครองประสบการณ์ชีวิตนั้นเป็นต้นเหตุ

แห่งทุกข์ 

กิเลสในใจทั้งหลายผุดขึ้นมาจากความหลงผิดประการเดียวนี้เอง นักภาวนาต้องฝึกตนให้เกิดความ

เข้มแข็งภายใน ความนิ่งสงบและความสุขเพื่อให้เห็นกายและจิตอย่างชัดเจน แล้วเราจะค้นพบด้วยตัวเอง

ว่า ชีวิตเป็นเพียงกระแสของปรากฏการณ์โดยไม่มีใครเป็นเจ้าของ นี้คือหนทางสู่ความหลุดพ้นตามหลัก

คำสอนของพระพุทธองค์

ธรรมะคำสอน โดย พระอาจารย์ชยสาโร

แปลถอดความ โดย ปิยสีโลภิกขุ

Dhamma together:เกราะหุ้มกันภัยไม่ให้จิตใจกระทบกันกับเขี้ยวของโลกอันแสนจะวิปริต

พระพุทธองค์ทรงชี้ทางแก่ผู้มาหา...มาฝึกกับพวกเราสิ...

ให้ทุกคนไปเขียนไว้ในกระจกส่องหน้าว่า 

สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ

“สิ่งทั้งหลายทั้งปวงอันใครๆ ไม่ควรยึดมั่น ถือมั่น (ว่าตัวกู ว่าของกู)”


ก็พูดมาหลายทีแล้ว ปรากฏว่ามีหลายคนไปเขียนไว้ที่

กระจกบานใหญ่สำหรับส่องหน้า มีเหมือนกันแต่คงไม่

กี่คน แต่เดี๋ยวนี้ก็ลบหมดแล้ว เพราะมันไม่รู้จักใช้

ประโยชน์อะไร ถ้าลบไปแล้วก็ไปเขียนเสียใหม่ซิ

ยังไม่เคย เขียนก็ไปเขียนใหม่ซิ “สัพเพ ธัมมา นาลัง

อภินิเวสายะ” คือหัวใจของพระพุทธศาสนา นั่นแหละคือ

ความเห็นโดยประการอื่น เมื่อคนทั้งโลกเขาเห็นว่าควร

ยึดมั่น ถือมั่น น่ารัก น่าพอใจอย่างนี้ มันบอกว่า ไม่ควร

ยึดมั่น ถือมั่น ว่าตัวกู ของกู แล้วก็สิ่งทั้งปวงด้วย


รูปเห็น ทางตา มันก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เสียงที่ได้ยิน ทางหู มันไพเราะ และไม่

ไพเราะ มันก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จมูกได้กลิ่น กลิ่นนั้นมันก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์

เป็นอนัตตา เรียกว่า ภายนอกทั้งหลาย คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ๖

ประการนี้ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา สิ่งที่สัมผัสสิ่งเหล่านี้ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

มันก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ทั้งผู้สัมผัส และสิ่งที่ถูกสัมผัส มันก็ล้วนแต่ไม่เที่ยง เป็น

ทุกข์ เป็นอนัตตา

ก่อนนี้เราเห็นตามอำนาจของอวิชชา คือ ปล่อยมาตามเรื่องราวของสัตว์ผู้ไม่ได้รับการอบรม

ไม่เคยได้ยินธรรมะของพระอริยะเจ้า ไม่ได้รับคำสั่งสอนในธรรมะของพระอริยะเจ้า ปล่อยมา

ตามบุญตามกรรมตั้งแต่อ้อนแต่ออด คลอดมาจากท้องมารดา ตามสิ่งแวดล้อมอย่างไร มันก็

เกิดความรู้สึกขึ้นมาเอง ว่าน่ารัก น่าพอใจ ว่าเที่ยงแท้ ว่าเอาเป็นของเรา แล้วก็มีความติดมั่น

ยึดมั่น ถือมั่นในสิ่งเหล่านั้นจนเป็นนิสัย สันดาน เรียกว่า มีอนุสัย ความเคยชินที่จะเป็น

อย่างนั้น แล้วก็ทะลักออกมาทุกคราวที่ ตาเห็นรูป หูฟังเสียง นี่เป็นอาสวะ ไหลนองออกมา

นี่คือธรรมดา ตามที่เป็นอยู่อย่างไร เดี๋ยวนี้จะเป็นไปโดยประการอื่นจากที่เคยเป็นอย่างนั้น

จะไม่รู้สึกอย่างนั้น จะไม่เห็นอย่างนั้น แล้วก็จะไม่สะสมเป็นอนุสัย จะไม่ทำให้อาสวะไหลนอง

นี่เรียกว่า โดยประการอื่น เห็นอะไรโดยประการอื่น รู้สึกอะไรโดยประการอื่น จากที่เคยเห็นมา

แล้ว มันก็เปลี่ยนแล้ว พูดง่ายๆ ก็เปลี่ยนจากปุถุชนไปเป็นอริยะเจ้า อริยชน คนชนิดนี้เท่านั้น

ที่จะเหมาะที่จะอยู่ในโลกที่แสนจะวิปริตดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ถ้าอยากจะอยู่ในโลกที่แสน

จะวิปริตก็รีบสร้างธรรมะอันนี้ ให้เป็นเกราะหุ้มกันภัยไม่ให้จิตใจกระทบกันกับเขี้ยวของโลกอัน

แสนจะวิปริต เรียกว่า อยู่ในโลกก็ไม่ถูกเขี้ยวงู ไม่ถูกเขี้ยวของโลกนั่นเอง ไม่ต้องนั่งร้องไห้

อยู่ ไม่ต้องเป็นทุกข์นอนไม่หลับอยู่ แล้วก็ไม่ต้องหัวเราะในความโง่เขลาเมื่อได้ ไม่เป็นทุกข์

เป็นร้อนเมื่อเสีย ไม่หลงใหลในเรื่องได้เรื่องเสีย มีจิตใจที่อยู่เหนือความหมายการได้ การเสีย

อยู่เหนือความล่วงไปแห่งเวลา ซึ่งมีค่าขึ้นมาเพราะอำนาจของตัณหา... เราจะต้องไม่เหมือน

กับตกนรกทั้งเป็นอีกต่อไป ในโลกที่มันชวนให้เป็นอย่างนั้นยิ่งขึ้น คือโลกที่วิปริต

พุทธทาสภิกขุ

Dhamma together:สุขวิหารธรรม

พระพุทธองค์ทรงชี้ทางแก่ผู้มาหา...มาฝึกกับพวกเราสิ...




ขณะใดที่ตั้งความระลึกรู้อยู่เฉพาะหน้า

เพ่งพินิจพิจารณาสังเกตดูอารมย์ภายในที่ผ่านใจ

ไม่เห็นมีอะไรเป็นแก่นสารมั่นคง ผ่านมาแล้วก็ล่วงเลยหาย

ลับดับไปทุกขณะ ทำให้รู้สึกเบื่อหน่ายปล่อยวาง

เป็นกลางไม่เข้าไปพัวพันรักใคร่ ชอบชังติดข้องอยู่ใน

อารมณ์ใดๆ ขณะนั้นกายใจเบาสบายชุ่มชื่น

เยือกเย็นสงบสงัดอยู่ภายใน เป็น สุขวิหารธรรม

ที่ได้อาศัยอยู่ทุกวันนี้ฯ..

 

ท่านเจ้าคุณนรรัตนราชมานิต (ธมฺมวิตกฺโก ภิกฺขุ)

Dhamma together:กาย วาจา ใจนี้เป็นเหตุ

พระพุทธองค์ทรงชี้ทางแก่ผู้มาหา...มาฝึกกับพวกเราสิ...



เราจะรักษาศีล ภาวนา ให้ทาน

ก็ต้องอาศัย กาย วาจา ใจนี้เป็นเหตุ ..

เราจะทำความผิด ความชั่ว ไปนรกอเวจี

ก็ต้องอาศัยกาย วาจา ใจนี้เป็นเหตุ..

เราจะรักษาศีล ทำสมาธิภาวนา ให้เกิดปัญญา

ทำมรรค ผล นิพพานให้แจ้ง ให้เกิดขึ้น ..

ก็ต้องอาศัยกาย วาจา ใจ นี้แหละ

หลวงปู่แหวน สุจิณโณ..

 

Dhamma together:บิดามารดามีความสำคัญมากที่จะให้เกิดการศึกษาที่ถูกต้อง

พระพุทธองค์ทรงชี้ทางแก่ผู้มาหา...มาฝึกกับพวกเราสิ...




บิดามารดามีความสำคัญมากที่จะให้เกิดการศึกษาที่ถูกต้องแก่ลูก

ทารกเด็กๆ เพิ่งคลอดออกมาจนโตขึ้นมา จนกว่าจะไปโรงเรียนได้

อย่าอบรมให้มันเป็นหลงใหลในเรื่องเอร็ดอร่อยสวยงามนัก คือ

ป้อยอเรื่องอาหารการกินจนเสียนิสัย จะเอาแต่ดีจะเอาแต่อร่อย

อย่างไม่มีเหตุผล นี่ก็ทำให้เด็กเสียนิสัย เห็นแก่ได้ เอาแต่จะได้

เอาแต่จะเอร็ดอร่อยสนุกสนานของตน โดยไม่คิดถึงความเสียหาย

หรือความยากลำบากของผู้อื่น บิดามารดาที่โง่เขลาคอยตามใจลูก

แล้วแต่ลูกจะกินอะไรจะเล่นอะไร แม้ของเล่นที่แพงๆ ก็อุตส่าห์

ซื้อให้ลูกก็ทำให้ลูกมันเสียนิสัย มันเป็นความรักที่โง่เขลาของ

บิดามารดา 

แล้วก็ทำให้ลูกนั้นเสียนิสัย เห็นแต่จะสวยจะงามจะเอร็ดจะอร่อยจะสนุกสนาน คนอื่นจะเป็นอย่างไรไม่รู้

นี่มันก็เป็นพื้นฐานสำหรับที่จะทำอาชญากรรมไปตั้งแต่เล็ก นี่ก็ทางหนึ่งแล้ว เรื่องให้บังคับจิตใจ

อย่าหลงใหลแต่เรื่องเอร็ดอร่อยสนุกสนานเลย ไม่ใช่ว่าจะไม่ให้มี ให้มีเอร็ดอร่อยสนุกสนานก็มี

ตามสมควร ตามสมควรเท่านั้น และอยู่ในขอบเขตในกรอบของศีลธรรมของวัฒนธรรม

พุทธทาสภิกขุ

ที่มา บรรยายธรรม เรื่อง ประชาชนผู้สร้างโลก ปี พ.ศ. ๒๕๒๗

Dhamma together:พอยึดอะไรว่าเป็นตัวตน ก็จะนึกว่ามันเที่ยง พอเกิดความแปรเปลี่ยน เราก็เลยเป็นทุกข์

พระพุทธองค์ทรงชี้ทางแก่ผู้มาหา...มาฝึกกับพวกเราสิ...

ถ้าเราไม่เห็นความจริงของกายและใจ หรือเห็นความจริงของสิ่งต่างๆ ที่เรียกว่าสังขาร

ทั้งรูปธรรม และนามธรรมในลักษณะนี้ เราก็จะเป็นทุกข์เมื่อต้องเจอความจริงที่แปรเปลี่ยน

เป็นนิจ ไม่ต่างจากการเอาตัวไปขวางกระแสน้ำที่เชี่ยว ถ้าเราเอาตัวไปขวางมันเราก็จะถูก

น้ำพัดไป



คนเราทุกข์เพราะความยึดมั่นในตัวตนก็เพราะเหตุนี้

เรามักจะสร้างตัวตนขึ้นมาด้วยความไม่รู้ ด้วยความหลง

เต็มไปด้วยความอยาก เต็มไปด้วยความยึด เมื่อสร้าง

แล้วก็อยากและยึดให้มันคงที่ เราจึงปฏิเสธความจริง

ขัดขวางความจริง ทวนกระแสความจริงตลอดเวลา

เพราะพอยึดอะไรว่าเป็นตัวตน ก็จะนึกว่ามันเที่ยง

พอเกิดความแปรเปลี่ยน เราก็เลยเป็นทุกข์

ทุกวันนี้คนเราทุกข์เพราะไม่รู้จักวางใจให้ถูกต้อง

เราเอาใจของเราขวางความจริง ขวางความจริงก็ไม่ต่าง

จากขวางกระแสน้ำ

พระไพศาล วิสาโล

#หอจดหมายเหตุพุทธทาส #BIA

Dhamma together:ด้วยการเจริญแห่งสติปัญญา มันจะออกไปจากการข้อง จากสิ่งข้อง ออกไปเป็นอิสระ

พระพุทธองค์ทรงชี้ทางแก่ผู้มาหา...มาฝึกกับพวกเราสิ...




คำว่าสัตว์น่ะ สัด- ตะหรือ สัด-ตะ-วะ ก็ตาม คำว่าสัตว์นะ

ในภาษาบาลี ออกมาเป็นภาษาไทย รูปสันสกฤต ก็เขียนว่า

เป็น สัด-ตะ-วะ คำว่า สัด-ตะ นี่ คำคำนี้ รากศัพท์ของมัน

แปลว่าข้อง เกี่ยวข้อง ข้องติด คำว่าสัตว์ก็คือ ผู้ที่ข้องติดอยู่

ในโลก ข้องติดอยู่ในโลก ด้วยเครื่องเกี่ยวข้องนานาประการ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มันก็คือสติปัญญา มันไม่พอ มันไม่ได้

อบรมสติปัญญา ถึงขนาดที่เรียกว่า เพียงพอ มันจึงไม่เห็น

 

การข้อง การติด การทนทรมาน อยู่ในโลกนี้ มันก็พอใจที่จะ ติดข้องอยู่ในโลกนี้ เพราะว่าใน

โลกนี้ มันมีอารมณ์เป็นที่รัก เป็นที่พอใจ ตั้งแต่เด็ก ๆไป มาพอเกิดมามันก็ไม่ต้องรู้เรื่องอื่นน่ะ

มันรู้แต่สิ่งที่เป็นที่น่ารักน่าพอใจ ไอ้ที่ไม่น่ารักไม่น่าพอใจ มันก็ไม่สนใจ แต่ชนิดไหนเป็นที่น่า

รักน่าพอใจ มันก็สนใจมากขึ้น มากขึ้น จนจิตใจมันข้องติดอยู่แต่ในสิ่งเหล่านั้น นี่เรียกว่า

เขามีพื้นเพแห่งจิตใจ สำหรับจะข้องติดอยู่ในโลกนั้น เป็นหนุ่มเป็นสาวก็ยังเป็นอย่างนั้น

บางทีกระทั่งเป็นคนแก่ คนเฒ่าก็ยังเป็นอย่างนั้นนะ ไม่รู้เรื่องออกไปจากโลก นี่เป็นสัตว์

สมบูรณ์ ทีนี้ แต่อีกพวกหนึ่งมัน ด้วยเหตุอะไรก็ตาม ด้วยการเจริญแห่งสติปัญญา หรืออะไร

ก็ตามนะ มันต้องการจะออกไปจากการข้อง จากสิ่งข้อง ออกไปเป็นอิสระ นี่มันก็เกิดขึ้นมา

พวกหนึ่ง คือพวกที่จะ อยู่เหนือโลก ทีนี้เราก็ต้องเห็นใจ พวกที่มันยังออกไปไม่ได้ มันก็ต้องมี

ระบบประพฤติปฏิบัติ ให้เหมาะสมที่จะอยู่ในโลก ได้รับความสุข ความสะดวก ความสบาย

ตามสมควร ของสัตว์ที่ยังข้องติดอยู่ มันเปรียบเหมือนกับว่า สัตว์ชนิดที่ มันถูกขังกรง โดย

ไม่รู้สึกตัวก็ได้ แล้วมันก็พอใจอยู่ในกรง ยิ่งเมื่อมีการเลี้ยงดูดี สัตว์เหล่านี้ก็ไม่อยากจะออกไป

จากคอกหรือจากกรง มันก็เป็นระดับมาตรฐานอันหนึ่งของจิตใจคือว่าพอใจ ทีนี้กรงที่จะขังจิต

นั่นนะ มันก็คือ อารมณ์นั่นเอง อารมณ์ แปลว่า เครื่องยึดหน่วงแห่งจิต ที่เป็นที่ยึด หน่วงแห่ง

จิต เขาก็เรียกว่าอารมณ์ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ๖ ประการนี้ ซึ่งเป็นที่

ตั้งแห่ง ความพอใจ นั้นน่ะมันเป็นกรง ทีนี้เขาก็จะต้องทำชนิดที่ได้อยู่กับสิ่งเหล่านี้ ในโลกนี้

มันก็เป็นที่พอใจ แม้จะต้องมี ความทุกข์ ลำบากบ้าง ก็ไม่เห็นเป็นส่วนสำคัญ เอาแต่ให้ได้

ส่วนที่พอใจ ตามความต้องการ ของความรู้สึกที่เรียกว่า ความสุข

พุทธทาสภิกขุ

Dhamma together:เพื่อชีวิตอิสระ

พระพุทธองค์ทรงชี้ทางแก่ผู้มาหา...มาฝึกกับพวกเราสิ...


ความสุขจากการเสพวัตถุ หรือ สิ่งบำรุงบำเรอภายนอกที่นำมาปรนเปรอ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ของเรา

ข้อนี้เป็นความสุขสามัญที่ทุกคนในโลกปรารถนากันมาก ความสุขประเภทนี้ขึ้นต่อสิ่งภายนอก

เพราะว่าเป็นวัตถุ หรืออามิสภายนอก เมื่อเป็นสิ่งภายนอก อยู่นอกตัว ก็ต้องหา ต้องเอา เพราะฉะนั้น

สภาพจิตของคนที่หาความสุขประเภทนี้จึงเต็มไปด้วยความคิดที่จะได้จะเอา แล้วก็ต้องหา และดิ้นรน

ทะยานไป เมื่อได้มาก ก็มีความสุขมาก แล้วก็เพลิดเพลินไปกับความสุขเหล่านั้น พอได้มาก ๆ เข้า

ต่อมาก็นึกว่าตัวเองเก่งมากๆ ไปๆ มาๆ โดยไม่รู้ตัวก็มีภาวะอย่างหนึ่งเกิดขึ้น คือ ชีวิตและความสุข

ของตัวเองต้องไปขึ้นกับวัตถุเหล่านั้น อยู่ลำพังง่าย ๆ อย่างเก่า ไม่สุขเสียแล้ว ตอนที่เกิดมาใหม่ ๆ นี้

ไม่ต้องมีอะไรมากก็พอจะมีความสุขได้ ต่อมามีวัตถุมาก เสพมาก ทีนี้ขาดวัตถุเหล่านั้นไม่ได้เสียแล้ว

กลายเป็นว่าสูญเสียอิสรภาพ ชีวิตและความสุขต้องไปขึ้นกับวัตถุภายนอก แต่เข้าใจผิดคิดว่าตัวเองเก่ง

อันนี้เป็นข้อสำคัญที่คนเราหลงลืมไป ทางธรรมจึงเตือนไว้เสมอว่าเรา อย่าสูญเสียอิสรภาพนี้ไป

พร้อมทั้งอย่าสูญเสียความสามารถที่จะเป็นสุข สิ่งที่คนเราจะพัฒนากันมากก็คือ

การพัฒนาความสามารถที่จะหาสิ่งเสพมาบำเรอความสุข แม้แต่การศึกษา ทำไปทำมาก็ไม่รู้ตัวว่า

กลายเป็นการพัฒนาความสามารถที่จะหาสิ่งเสพบำเรอความสุข แต่อีกด้านหนึ่งของชีวิตที่ลืมไปคือ

การพัฒนาความสามารถที่จะมีความสุข ถ้าเราไม่พัฒนาความสามารถที่จะมีความสุข หรือแม้แต่

ไม่รักษามันไว้เราก็สูญเสียความสามารถที่จะมีความสุข อาการของคนที่สูญเสียความสามารถที่จะ

มีความสุข ก็คือยิ่งอยู่ในโลกนานไปก็ยิ่งกลายเป็นคนที่สุขยากขึ้น คนจำนวนมากสมัยนี้มีลักษณะ

อย่างนี้ คืออยู่ในโลกนานไป เติบโตขึ้น กลายเป็นคนที่สุขได้ยากขึ้น ต่างจากคนที่รักษาดุลยภาพ

ของชีวิตไว้ได้ โดยพัฒนาความสามารถที่จะมีความสุขควบคู่ไปด้วย จะเป็นคนที่

มีมีลักษณะตรงข้าม คือยิ่งอยู่ในโลกนานไป ก็ยิ่งเป็นคนที่สุขได้ง่ายขึ้น



แต่ถ้าเป็นคนที่สุขได้ง่ายขึ้น ก็ดี ๒ ชั้น คือ เราพัฒนาสองด้าน

ไปพร้อมกัน ทั้งพัฒนาความสามารถที่จะหาสิ่งเสพบำเรอ

ความสุขด้วย และพัฒนาความสามารถที่จะมีความสุขด้วย

ผลก็คือ เราหาสิ่งมาบำเรอความสุขได้เก่ง ได้มากด้วย

และพร้อมกันนั้นเราก็เป็นคนทีสุขได้ง่ายด้วย

เราก็เลยสุขซ้อนทวีคูณ

ส่วนคนที่สูญเสียความสามารถที่จะมีความสุข

แม้จะหาสิ่งเสพบำเรอความสุขได้มาก แต่ความสุขก็ที่เดิม

เรื่อยไป เพราะข้างนอกได้มา ๑ แต่ข้างในก็ลดลงไป ๑

เลยเหลือ ๐ ที่เดิม 

  กระบวนการวิ่งหาความสุขจึงดำเนินไปไม่รู้จักจบสิ้น เพราะความสุขวิ่งหนีเราไปเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้น

จะต้องพัฒนาความสามารถที่จะมีความสุขไว้ด้วยคู่กัน เป็นคนที่สุขได้ง่ายก็เป็นอันว่าสบาย

อย่างน้อยก็ฝึกตัวเองไว้ อย่าให้ความสุขต้องขึ้นกับวัตถุมากเกินไป ศีล ๘ เป็นตัวอย่างของวิธีฝึก

ไม่ให้เราสูญเสียอิสรภาพ โดยไม่เอาความสุขไปขึ้นต่อวัตถุมากเกินไป แปดวันก็รักษาศีล ๘

ครั้งหนึ่ง ลองหัดดูซิว่าให้ความสุขของเราไม่ต้องขึ้นกับการบำรุงบำเรอทางกายด้วยวัตถุ

เริ่มด้วยข้อวิกาลโภชนาฯ ไม่ต้องบำเรอลิ้นด้วยอาหารอร่อยอยู่เรื่อย ไม่คอยตามใจลิ้น

กินแค่เที่ยง เพียงที่ที่ร่างกายต้องการเพื่อให้มีสุขภาพดี แข็งแรง ตลอดจนข้อ อุจจาสยนะฯ

ไม่บำเรอตัวด้วยการนอน ไม่ต้องนอนบนฟูก ลองนอนง่าย ๆ บนพื้น บนเสื่อธรรมดา

ลองไม่ดูการบันเทิงซิ ทุก ๘ วัน เอาครั้งเดียว จะเป็นการรักษาอิสรภาพของชีวิตไว้

และฝึกให้เรามีชีวิตอยู่ดีได้โดยไม่ต้องขึ้นกับวัตถุมากเกินไป

ป. อ. ปยุตฺโต

Select your language