Dhamma together:เกราะหุ้มกันภัยไม่ให้จิตใจกระทบกันกับเขี้ยวของโลกอันแสนจะวิปริต

พระพุทธองค์ทรงชี้ทางแก่ผู้มาหา...มาฝึกกับพวกเราสิ...

ให้ทุกคนไปเขียนไว้ในกระจกส่องหน้าว่า 

สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ

“สิ่งทั้งหลายทั้งปวงอันใครๆ ไม่ควรยึดมั่น ถือมั่น (ว่าตัวกู ว่าของกู)”


ก็พูดมาหลายทีแล้ว ปรากฏว่ามีหลายคนไปเขียนไว้ที่

กระจกบานใหญ่สำหรับส่องหน้า มีเหมือนกันแต่คงไม่

กี่คน แต่เดี๋ยวนี้ก็ลบหมดแล้ว เพราะมันไม่รู้จักใช้

ประโยชน์อะไร ถ้าลบไปแล้วก็ไปเขียนเสียใหม่ซิ

ยังไม่เคย เขียนก็ไปเขียนใหม่ซิ “สัพเพ ธัมมา นาลัง

อภินิเวสายะ” คือหัวใจของพระพุทธศาสนา นั่นแหละคือ

ความเห็นโดยประการอื่น เมื่อคนทั้งโลกเขาเห็นว่าควร

ยึดมั่น ถือมั่น น่ารัก น่าพอใจอย่างนี้ มันบอกว่า ไม่ควร

ยึดมั่น ถือมั่น ว่าตัวกู ของกู แล้วก็สิ่งทั้งปวงด้วย


รูปเห็น ทางตา มันก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เสียงที่ได้ยิน ทางหู มันไพเราะ และไม่

ไพเราะ มันก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จมูกได้กลิ่น กลิ่นนั้นมันก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์

เป็นอนัตตา เรียกว่า ภายนอกทั้งหลาย คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ๖

ประการนี้ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา สิ่งที่สัมผัสสิ่งเหล่านี้ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

มันก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ทั้งผู้สัมผัส และสิ่งที่ถูกสัมผัส มันก็ล้วนแต่ไม่เที่ยง เป็น

ทุกข์ เป็นอนัตตา

ก่อนนี้เราเห็นตามอำนาจของอวิชชา คือ ปล่อยมาตามเรื่องราวของสัตว์ผู้ไม่ได้รับการอบรม

ไม่เคยได้ยินธรรมะของพระอริยะเจ้า ไม่ได้รับคำสั่งสอนในธรรมะของพระอริยะเจ้า ปล่อยมา

ตามบุญตามกรรมตั้งแต่อ้อนแต่ออด คลอดมาจากท้องมารดา ตามสิ่งแวดล้อมอย่างไร มันก็

เกิดความรู้สึกขึ้นมาเอง ว่าน่ารัก น่าพอใจ ว่าเที่ยงแท้ ว่าเอาเป็นของเรา แล้วก็มีความติดมั่น

ยึดมั่น ถือมั่นในสิ่งเหล่านั้นจนเป็นนิสัย สันดาน เรียกว่า มีอนุสัย ความเคยชินที่จะเป็น

อย่างนั้น แล้วก็ทะลักออกมาทุกคราวที่ ตาเห็นรูป หูฟังเสียง นี่เป็นอาสวะ ไหลนองออกมา

นี่คือธรรมดา ตามที่เป็นอยู่อย่างไร เดี๋ยวนี้จะเป็นไปโดยประการอื่นจากที่เคยเป็นอย่างนั้น

จะไม่รู้สึกอย่างนั้น จะไม่เห็นอย่างนั้น แล้วก็จะไม่สะสมเป็นอนุสัย จะไม่ทำให้อาสวะไหลนอง

นี่เรียกว่า โดยประการอื่น เห็นอะไรโดยประการอื่น รู้สึกอะไรโดยประการอื่น จากที่เคยเห็นมา

แล้ว มันก็เปลี่ยนแล้ว พูดง่ายๆ ก็เปลี่ยนจากปุถุชนไปเป็นอริยะเจ้า อริยชน คนชนิดนี้เท่านั้น

ที่จะเหมาะที่จะอยู่ในโลกที่แสนจะวิปริตดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ถ้าอยากจะอยู่ในโลกที่แสน

จะวิปริตก็รีบสร้างธรรมะอันนี้ ให้เป็นเกราะหุ้มกันภัยไม่ให้จิตใจกระทบกันกับเขี้ยวของโลกอัน

แสนจะวิปริต เรียกว่า อยู่ในโลกก็ไม่ถูกเขี้ยวงู ไม่ถูกเขี้ยวของโลกนั่นเอง ไม่ต้องนั่งร้องไห้

อยู่ ไม่ต้องเป็นทุกข์นอนไม่หลับอยู่ แล้วก็ไม่ต้องหัวเราะในความโง่เขลาเมื่อได้ ไม่เป็นทุกข์

เป็นร้อนเมื่อเสีย ไม่หลงใหลในเรื่องได้เรื่องเสีย มีจิตใจที่อยู่เหนือความหมายการได้ การเสีย

อยู่เหนือความล่วงไปแห่งเวลา ซึ่งมีค่าขึ้นมาเพราะอำนาจของตัณหา... เราจะต้องไม่เหมือน

กับตกนรกทั้งเป็นอีกต่อไป ในโลกที่มันชวนให้เป็นอย่างนั้นยิ่งขึ้น คือโลกที่วิปริต

พุทธทาสภิกขุ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Select your language