Dhamma together:เจอทุกข์ยิ่งได้ธรรม เจอปัญหายิ่งได้ปัญญา

พระพุทธองค์ทรงชี้ทางแก่ผู้มาหา...มาฝึกกับพวกเราสิ...




“โลกธรรม” คือ สิ่งที่มีประจำโลก ซึ่งเข้ามาผจญกับคนทุกคน มี ๘ ประการ กล่าวคือ

มีลาภ เสื่อมลาภ หรือ ได้ กับ เสีย 

มียศ เสื่อมยศ 

นินทา สรรเสริญ 

พบสุข เจอทุกข์






สิ่งเหล่านี้ ท่านเรียกว่าโลกธรรม ซึ่งมีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ 

แล้วดับไป มีความเปลี่ยนแปลงไป ไม่แน่นอนคนเรา 

เมื่อประสบโลกธรรมฝ่ายดี ที่น่าปรารถนา คือได้ลาภ ได้ยศ 

ได้สรรเสริญ ได้ความสุข ก็มักจะฟู หรือพอง โดยจะมี 

ความร่าเริง ลิงโลด ดีใจ แม้กระทั่งเผยอหยิ่ง แต่เวลาประสบ

โลกธรรมฝ่ายร้าย ที่เป็นการสูญเสีย คือเสื่อมลาภ เสื่อมยศ 

ถูกนินทา และประสบทุกข์ ก็จะมีอาการที่ทางพระเรียกว่า

แฟบ หรือยุบ คือหดหู่ ท้อแท้ ถดถอย เศร้าโศกเสียใจ 

มีความขุ่นมัว พูดให้เป็นภาพว่า แฟบฟุบ และยุบเหี่ยว 

สภาพเช่นนี้ เป็นข้อพิสูจน์สภาพจิตใจของคนเรา ถ้าได้แค่ฟูฟุบยุบพองตามโลกธรรมอย่างที่ว่ามานี้ 

ก็เป็นเพียงปุถุชนที่ยังอ่อนปัญญา ไม่ใช่เป็นอารยชน และการที่เรามีทรัพย์ภายนอกนั้น จะไม่ช่วย 

ถ้าเราไม่พัฒนาให้เกิดทรัพย์ภายในขึ้นมานำใจ ส่วนคนที่มีทรัพย์ภายใน เมื่อมาเผชิญกับโลกธรรม 

เจอความผันผวนปรวนแปรเข้า ก็จะวางจิตวางใจของตนได้ถูกต้อง ประคับประคองชีวิตให้ผ่านพ้น

ความผันผวนไปด้วยดีนอกจากนั้น ยังสามารถได้ประโยชน์จากโลกธรรมเหล่านี้ด้วย ได้ประโยชน์

อย่างไร คนที่มีทรัพย์ภายใน มีความรู้ มีความดีงาม วางจิตใจถูกต้องแล้ว จะได้ประโยชน์ ทั้งจาก 

โลกธรรมฝ่ายร้าย และโลกธรรมฝ่ายดี โลกธรรมฝ่ายเสื่อม ที่เป็นความสูญเสียอย่างที่กล่าวแล้ว คือ

ความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา และความทุกข์นั้น คนทั่วไป เมื่อประสบแล้ว ย่อมมีความเศร้าโศก

เสียใจ อันเป็นธรรมดาของปุถุชน แต่คนที่เรียนรู้ธรรมดีแล้ว จะพัฒนาจิตใจของตนเองให้ปฏิบัติ

ต่อสิ่งเหล่านั้นอย่างถูกต้อง และกลับได้ประโยชน์ ได้ประโยชน์อย่างไร ก็คือ มองว่า การสูญเสีย 

หรือเคราะห์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตนเองนั้น เป็นบทพิสูจน์ เป็นบททดสอบความเข้มแข็งของเรา 

และเป็นเครื่องฝึกฝนพัฒนาตัวของเราด้วย คนเราที่มีชีวิตอยู่ในโลกนี้ ย่อมต้องเผชิญทั้งปัญหา 

และผลสมปรารถนา ที่เป็นความดีงาม ความรุ่งเรือง และความสำเร็จต่างๆ เมื่อประสบความสำเร็จนั้น 

ไม่เป็นไร ก็ดีใจ แต่เมื่อประสบปัญหาอุปสรรค ถ้าเราเสียใจ ก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร และยังเป็นการ

ทำร้ายตัวเราเองอีกด้วย อารยชนรู้ตระหนักว่า คนที่จะประสบความสำเร็จในชีวิต ก็คือคนที่สามารถ

แก้ปัญหาได้ และพัฒนาตนเองด้วยการใช้สติปัญญาความสามารถในการแก้ปัญหา เมื่อเคราะห์

เกิดขึ้น เมื่อปัญหาเกิดขึ้น จึงเป็นบททดสอบตัวเอง ทดสอบความสามารถ และเป็นดังเวทีที่

ฝึกฝนตนให้พัฒนา คนที่มีสติปัญญา มีธรรม ก็ไม่ท้อถอย เมื่อเผชิญความทุกข์ เกิดความสูญเสีย

ขึ้นมา ก็ถือเป็นบททดสอบความเข้มแข็งมั่นคงและฝึกที่จะใช้ความสามารถพัฒนาตัวเองให้ดียิ่งขึ้น 

เท่ากับเป็นโอกาส ทั้งนี้เพราะคนเรานั้น ถ้าไม่มีโอกาสได้ผ่านอุปสรรคและการทดสอบหรือปัญหา 

ก็จะไม่มีความเข้มแข็ง สติปัญญาความสามารถ เมื่อไม่ได้ใช้ ก็จะไม่ได้พัฒนา แต่เมื่อพบอุปสรรค 

พบปัญหาแล้ว ก็สามารถพัฒนาตนเองให้เข้มแข็ง เพราะฉะนั้น อุปสรรคและปัญหา ตลอดจน

ความทุกข์ต่างๆ นี้ จึงเป็นโอกาส เท่ากับว่าเป็นโชค คือเป็นโอกาสที่เราจะได้พัฒนาความสามารถ

ของตนเอง อย่างน้อยก็ได้ทดสอบตัวเอง และถ้าเราผ่านไปได้ ชีวิตของเราก็จะยิ่งเจริญงอกงาม 

ทีนี้ ในทางที่ตรงข้าม เมื่อประสบโลกธรรมที่เป็นฝ่ายดีงาม ที่น่าปรารถนา คนที่ไม่ได้พัฒนาตัวเอง 

ไม่รู้ธรรม ก็หลงใหลไปตามสิ่งเหล่านั้น มัวเมา บางที มัวแต่ลุ่มหลงมัวเมาในการได้ และในความเจริญ

งอกงามเหล่านั้น สิ่งที่น่าปรารถนาเหล่านั้น สิ่งที่เป็นความเจริญรุ่งเรืองนั้น กลับกลายเป็นโทษต่อ

ตัวเอง เพราะความหลงใหลมัวเมานั้น ทำให้ชีวิตตกต่ำลง หรือกลับใช้ทรัพย์ ยศ อำนาจในการ

เบียดเบียนข่มขู่ ตลอดจนดูถูกดูแคลนผู้อื่น เป็นต้น แต่สิ่งเหล่านี้ไม่เที่ยงแท้แน่นอน แล้วก็ผ่านไป 

เมื่อความรุ่งเรืองเจริญงอกงามผ่านไปแล้ว ชีวิตของตนก็จะไม่มีสิ่งที่จะมาช่วยพยุงไว้ ก็จะมีความ

ตกต่ำมาก เมื่อเสียแล้ว ก็สูญสิ้นทั้งหมด ส่วนคนที่รู้ธรรมแล้ว มีทรัพย์ภายใน เมื่อพบกับความได้ 

ความเจริญงอกงาม ความรุ่งเรือง ความสำเร็จ ก็จะถือเป็นโอกาสว่า ตนเองได้ช่องทางในการที่จะ

สร้างสรรค์ความดียิ่งๆ ขึ้นไป เรามีทรัพย์ ก็ใช้ทรัพย์เพื่อทำความดียิ่งขึ้นไป เรามีอำนาจก็ใช้เป็นช่อง

ทางในการทำความดี สร้างไมตรี สร้างประโยชน์ไว้แก่ผู้คนทั้งหลาย แม้ในกาลข้างหน้า 

ถ้ามีเหตุเป็นไป ตนเองตกต่ำ ก็ไม่เป็นไร เพราะได้ทำความดีไว้แล้ว ความเจริญที่เกิดขึ้น 

เราได้ใช้ประโยชน์ไปแล้ว และเหลือทิ้งความดีและประโยชน์นั้นไว้ นอกจากนั้นก็มักให้มีคนที่

จะมาช่วยเหลือเกื้อกูล เป็นอันว่า ไม่ว่าโลกธรรมฝ่ายดีหรือฝ่ายร้ายก็ตาม ถ้าเกิดแก่คนที่ไม่รู้ธรรม

แล้วเป็นโทษได้ทั้งสิ้น แต่โลกธรรมที่เป็นความผันผวนในชีวิตเดียวกันนั้น ไม่ว่าดีหรือว่าร้าย 

ถ้าเกิดแก่ผู้ที่มีปัญญา เป็นคนมีธรรมแล้ว ก็กลายเป็นดีทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ในทางพระพุทธศาสนา 

ท่านจึงไม่กลัวความทุกข์ ทุกข์สุขเกิดขึ้น ถ้าปฏิบัติต่อมันให้ถูก เรามีแต่ได้อย่างเดียว พระภิกษุและ

ภิกษุณีในพระพุทธศาสนา บรรลุธรรมเพราะความทุกข์นั้น มีมากมาย คนเรา ถ้ารู้จักปฏิบัติให้ถูกต้อง 

ความทุกข์อาจจะทำให้เราถึงกับบรรลุพระนิพพานก็ได้ เพราะฉะนั้น จะได้หรือจะเสีย จึงอยู่ที่ว่าเรา

ปฏิบัติได้ถูกต้องหรือไม่ ถ้าจะปฏิบัติได้ถูกต้อง ก็เพราะเหตุที่มีทรัพย์ภายใน คนที่มีทรัพย์ภายใน

ดังที่กล่าวมา คือมีธรรมแล้ว จัดว่าเป็นอารยชน จะปฏิบัติต่อทรัพย์ภายนอกได้ถูกต้องด้วย การปฏิบัติ

ต่อโลกธรรมถูกต้อง ท่านถือว่าเป็นมงคลอันสูงสุด เป็นชัยชนะอันสูงสุด ดังพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ใน

มงคลสูตรว่า 

ผุฏฺฐสฺส โลกธมฺเมหิ     จิตฺตํ ยสฺส น กมฺปติ อโสกํ วิรชํ เขมํ         เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ 

แปลความว่า

"ผู้ใดถูกโลกธรรมกระทบแล้ว มีจิตใจไม่หวั่นไหว ไร้ธุลีมลทิน มีความผ่องใส

อยู่ได้ เป็นจิตเกษมปลอดโปร่ง นั่นคือมงคลอันสูงสุด เป็นชัยชนะอันสูงสุด” 

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต ) 

ที่มา : พระธรรมเทศนา (อธิบายคาถาใน ขุ.เถรี.๒๖/๔๗๑/๔๘๗ ซึ่งแปลว่า 

“เงินทองจะช่วยให้กิเลสหมดสิ้นไป ก็หาไม่”) อุทิศ คุณน้ำทอง และ น.ส. เอิบสิริ คุณวิศาล 

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต) 

แสดง ณ ๑๗ มีนาคม ๒๕๓๘ พิมพ์แจกเป็น ธรรมทาน ในวันขึ้นปีใหม่ ๒๕๓๙

#อ่านแล้วแบ่งกันอ่านหลายๆท่านนะจ๊ะ #อ่านหลายรอบ #ระดมสมองคิดหลายๆหน 

#ฝึกฝนปัญญา #พัฒนาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน #จิตรู้เท่าทันสรรพสิ่ง 

#ชีวิตสุขสงบเย็น #เฉกเช่นพระนิพพาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Select your language