พระพุทธองค์ทรงชี้ทางแก่ผู้มาหา...มาฝึกกับพวกเราสิ...
เรื่องที่เราต้องเรียนนะ เรื่องหนึ่งคือเรื่องอริยสัจ เรื่องหนึ่งเรื่องสติปัฏฐาน เรื่องหนึ่งเรื่องไตรลักษณ์
เรื่องหลักๆ ที่ต้องเรียน ถ้าเรียนเรื่องเหล่านี้แล้วเข้าใจ การภาวนาจะง่ายที่สุดเลย พูดได้ว่าไม่ได้ทำอะไร
ทำตัวเป็นแค่คนสังเกตการณ์ พวกเราสังเกตไหม
ในมหาสติปัฏฐาน พระพุทธเจ้าบอกว่าเป็นทางสายเอกสายเดียว เพิ่อความพ้นทุกข์
ลองดูกิริยาในสติปัฏฐาน มีกิริยาหลักอยู่คำเดียวคือคำว่า "รู้" ท่านบอกว่าหายใจออกก็รู้ หายใจเข้าก็รู้ ท่านไม่ได้บอกว่า หายใจออก ให้กำหนดไว้หกฐานเจ็ดฐานห้าฐานสิบฐาน ไม่มีนะ บางทีใช้คำว่ารู้ชัด เช่น ยืนอยู่ก็รู้ชัด เดินอยู่ก็รู้ชัด คำว่ารู้ที่ท่านพูด มีความหมายนะ มีความสุขก็รู้ มีความทุกข์ก็รู้ จิตใจเป็นกุศลก็รู้ มีความโลภก็รู้ มีความโกรธก็รู้ มีความหลงก็รู้ ฟุ้งซ่านก็รู้ หดหู่ก็รู้ สังเกตให้ดีนะ มีแต่คำว่ารู้เต็มไปหมดเลยในสติปัฏฐาน จิตมีกามฉันท นิวรณ์ก็รู้ชัด มีพยาบาทนิวรณ์ก็รู้ จิตมีอะไรขึ้นมาก็รู้ ดังนั้นกิริยาที่ เป็นหัวใจของการภาวนา ในทางสายเอกทางสายเดียว คือคำว่า "รู้" นี่เอง |
คำว่า "รู้" มีสองนัยยะ
อันแรกมีสติ รู้สภาวธรรมที่กำลังปรากฏ คือรูปธรรมและนามธรรมที่กำลังปรากฏ
อันที่สองมีปัญญา รู้ความจริงของสภาวะรูปและนามอันนั้น ความจริงของสภาวะรูปและนาม ก็คือ
ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวเรา ฉะนั้นคำว่ารู้ครอบคลุมนัยยะสองประการ อันแรกรู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้น
อันที่สองรู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่ตัวเรา รู้อย่างนี้แหละถึงเป็นทางสายเอกทางสายเดียว เพื่อการพ้นทุกข์
ดังนั้นเราต้องฝึกจนสติแท้ๆ คือความระลึกได้เกิดขึ้นมา สติแท้ๆ เกิดจากจิตจำสภาวะได้ จิตจำสภาวะได้
เพราะหัดตามรู้สภาวะบ่อยๆ หัดตามรู้กายบ่อยๆ หัดตามรู้เวทนาบ่อยๆ หัดตามรู้จิตบ่อยๆ หัดตามรู้
สภาวธรรมทั้งรูปธรรมนามธรรมบ่อยๆ
ดังนั้นสติปัฏฐานนี่จริงๆ แล้วมีสองขั้นตอน ขั้นตอนที่หนึ่ง รู้กาย เวทนา จิต ธรรมไปเรื่อยๆ เพื่อให้จิต
จำสภาวะได้ แล้วสติจะเกิดขึ้นเอง ดังนั้นสติปัฏฐานในเบื้องต้น ทำให้เกิดสติ เรารู้เห็นร่างกายยืนเดินนั่ง
นอน คอยรู้สึกไป อย่าใจลอย แล้วอย่าเพ่งอยู่ที่กาย ดูจิตใจไป ก็อย่าใจลอย แล้วอย่าเพ่งอยู่ที่จิต
รู้เวทนาก็อย่าใจลอยไป แล้วอย่าไปเพ่งเวทนา สิ่งที่ผิดมีสองอันคือ เผลอไปกับเพ่งเอาไว้ เพ่งแล้วจะนิ่ง
ไม่สามารถรู้สภาวะตรงตามความเป็นจริงได้ ดังนั้นสติปัฏฐาน เบื้องต้นก็รู้กายเวทนาจิตธรรมไป แต่แบบ
ไม่เพ่ง แล้วก็ไม่ใจลอย ลืมมันไป รู้บ่อยๆ เท่าที่รู้ได้จนจิต จำสภาวะได้แล้วสติจะเกิดขึ้น นี่เป็นสติปัฏฐาน
ขั้นที่หนึ่ง เมื่อสติเกิดขึ้นแล้วจิตใจตั้งมั่น สัมมาสมาธิเป็นสิ่งจำเป็น จิตใจที่ตั้งมั่นตรงนี้ต้องเรียนนะ
บทเรียนเรื่องสัมมาสมาธิอยู่ในเรื่องจิตตสิกขา เรื่องสีลสิกขา จิตตสิกขา ปัญญาสิกขา ต้องเรียนให้
ครบนะ ต้องเรียนจนกระทั่งจิตใจของเราตั้งมั่นเกิดสัมมาสมาธิ ไม่ใช่มิจฉาสมาธิ สมาธิที่พวกเราฝึกมัน
เป็นมิจฉาสมาธิเป็นส่วนมาก เป็นสมาธิเพ่งจ้องบังคับ สัมมาสมาธิเป็นสมาธิที่จิตตั้งมั่น สักว่ารู้สักว่าเห็น
สภาวธรรม ตั้งมั่นกับตั้งแช่ลงไปไม่เหมือนกันนะ ถ้าจิตใจเราตั้งมั่นมีสติระลึกรู้รูปมีสติระลึกรู้นาม จะเกิด
ปัญญาขึ้นมาเห็นความจริงของรูปของนาม #ดังนั้นสติปัฏฐานเบื้องปลายนี่ ทำไปเพื่อให้เกิดปัญญา มีสติ
ระลึกรู้รูปรู้นาม รู้กายรู้ใจ ลงไปด้วยจิตที่ตั้งมั่นเป็นกลางก็จะเกิดปัญญาขึ้นมา ต้องมีจิตที่ตั้งมั่นเป็นกลาง
คือสัมมาสมาธิถึงจะเกิดปัญญานะ เพราะสัมมาสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา ถ้าขาดสัมมาสมาธิจิต
ไม่ตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูละก็ ไม่เกิดปัญญาหรอก จะเป็นผู้เพ่ง ผู้จ้อง ผู้บังคับ ปัญญาที่เกิดขึ้นก็คือ การเห็น
กายเห็นใจเป็นไตรลักษณ์นั่นเอง เบื้องต้นเห็นก่อนว่าไม่ใช่เรา พอเห็นตรงนี้นะ จิตบรรลุธรรมเป็นพระ
โสดาบัน ตัวเราไม่มี รู้กายรู้ใจต่อไป เห็นกายนี้ทุกข์ล้วนๆ เลยนะ จิตปล่อยวางความยึดถือกายเป็น
พระอนาคามี สุดท้ายจิตมันจะรวมลงมาอยู่ที่จิต มารู้อยู่ที่จิต เรียนรู้จนกระทั่งปล่อยวางจิต จะสมมุติ
เรียกว่าพระอรหันต์ ใช้คำว่าสมมุตินะ พระอรหันต์ไม่เคยรู้สึกว่ามีพระอรหันต์ เป็นของสมมุติขึ้นมา นี่คือ
เส้นทางแห่งการพ้นทุกข์ เป็นทางสายเอกทางสายเดียวที่เราต้องเรียน แต่ละจุดแต่ละมุมจะมีแง่มุมที่
ต้องเรียนเป็นรายๆ ไปนะ นี่หลวงพ่อพูดในภาพรวมให้ฟังไว้ก่อน
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
Cr.หนังสือประมวลธรรมเทศนา หน้าที่ ๖๔-๖๖ [๑๐ มีนาคม ๒๕๕๐ : นาที ๒๖]
#อ่านแล้วแบ่งกันอ่านหลายๆท่านนะจ๊ะ #อ่านหลายรอบ #ระดมสมองคิดหลายๆหน #ฝึกฝนปัญญา #พัฒนาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน #จิตรู้เท่าทันสรรพสิ่ง #ชีวิตสุขสงบเย็น #เฉกเช่นพระนิพพาน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น