Dhamma together:พิจารณาว่าใจของเราต้องการอะไร แท้จริง....

พระพุทธองค์ทรงชี้ทางแก่ผู้มาหา...มาฝึกกับพวกเราสิ...





 ชีวิตเรามีร่างกายกับจิตใจ ร่างกายต้องพึ่งพาอาศัยวัตถุ เช่น 

อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค อันเป็นปัจจัย

พื้นฐานเพื่อให้ร่างกายมีชีวิตอยู่ได้  นอกจากนี้คนเรายัง

ประดิษฐ์คิดค้นสิ่งต่างๆ เพื่อตอบสนองความสะดวกสบายให้แก่

ร่างกาย เช่น บ้าน รถยนต์ ตู้เย็น แอร์ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์

มือถือ เครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ ทำให้ผู้คนต้องทำงานหนักเพื่อ

หาเงินมาซื้อวัตถุไว้บริโภคได้มาเท่าไรก็ไม่พอยังอยากได้สิ่ง

ดีๆ ยิ่งขึ้น








ทัศนะดังกล่าวทำให้จิตใจยึดติดอยู่กับวัตถุ เอาวัตถุมาเป็นที่พึ่งของร่างกายของจิตใจ ทำให้ชีวิต

มีความทุกข์ เราคงไม่ปฏิเสธว่า ร่างกายต้องการวัตถุเป็นเครื่องอยู่อาศัย เพราะร่างกายก็คือธาตุ ๔ 

(ดิน น้ำ ลม ไฟ) ส่วนวัตถุก็คือธาตุ ๔ เช่นเดียวกับร่างกาย โดยธรรมชาติแล้วธาตุ ๔ ต้องอาศัยธาตุ ๔ 

ด้วยกัน เช่น บ้าน (ธาตุ๔) ผุพัง เมื่อต้องซ่อมก็ต้องหาวัสดุ (ธาตุ ๔) มาซ่อม จะไปใช้พลังจิตหรือวิงวอน

ร้องขอต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ช่วยให้บ้านคืนสู่สภาพเดิมไม่ได้ แต่ใจของเรามีใช่วัตถุหรือธาตุ ๔ หากปล่อยให้

ใจยึดถือเอาวัตถุมาเป็นที่พึ่งที่อาศัย ก็จะมีความทุกข์ใจ  ทั้งนี้เพราะวัตถุเป็นเชื้อกิเลสตัณหาของจิตใจ

เป็นอย่างดี เช่น กามตัณหา คือความทะยานอยากในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ซึ่งมาจากวัตถุหรือธาตุ ๔ 

ทั้งสิ้น พระพุทธองค์ตรัสว่า เป็นของร้อน ร้อนเพราะไฟราคะ(อยากได้ อยากเสพ) ไฟโทสะ(เมื่อไม่ได้

ดังใจ) และไฟโมหะ (ลุ่มหลงมัวเมา ยึดติด) เพราะไม่รู้ธรรมชาติความเป็นจริงของวัตถุ 

ธรรมชาติความเป็นจริงของวัตถุหรือธาตุ ๔ คืออะไร...คือสิ่งที่ตกอยู่ใต้กฎของไตรลักษณ์ดังนี้       

๑.  เป็นของไม่เที่ยง (อนิจจัง) มีความเปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา เป็นของไม่แน่นอน เป็นของชั่วคราว

๒.  คงทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ (ทุกขัง) เพราะเนื้อในมวลสารของมันเกิด-ดับอยู่ตลอดเวลา 

ขณะเดียวกันก็มีความขัดแย้งกดดันกัน ทำให้กร่อนโทรมผุพังไปตามกาลเวลา ไม่สามารถคงทนอยู่

ในสภาพเดิมได้       

๓.  เป็นสมบัติของโลก มาจากทรัพยากรของโลก ไม่ใช่ของของใคร (อนัตตา) ต่างยืมเอาทรัพยากรของ

โลกมาใช้กันชั่วคราว เพราะเมื่อตายไปก็ต้องคืนสิ่งที่มีอยู่ไว้กับ โลก เอาสมบัติวัตถุไปไม่ได้เสีย การเห็น

ว่าเป็นของคนใดคนหนึ่งนั้น เห็นตามนิยามของชาวโลก เพื่อให้เกิดสิทธิ หน้าที่ และกรรมสิทธิ์ในการ

ครอบครอง นอกจากนี้ยังไม่สามารถบังคับสิ่งที่มีอยู่ให้เป็นไปตามที่ตนปรารถนา เช่น อย่าได้เสื่อมโทรม

เลย อย่าได้พลัดพรากจากกัน ได้เลย  เมื่อธรรมชาติของวัตถุเป็นเช่นนี้ หากใครเข้าไปเสพโดยไม่รู้

ความเป็นจริง ก็จะไปหลงวัตถุดังนี้       

๑.  สิ่งที่ตนรัก ยินดี พอใจ ก็ไม่อยากให้สิ่งนั้นเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ตนไม่ปรารถนา แต่โดยธรรมชาติ

ของวัตถุย่อมเปลี่ยนไปตามเหตุปัจจัย หากการเปลี่ยนแปลงเป็นไปในทางที่ผู้ครอบครองเสียผประโยชน์ 

ก็จะมีความทุกข์ใจ       

๒.  สิ่งที่ตนรัก ยินดี พอใจ ย่อมไม่อยากให้ชำรุดทรุดโทรมหรือต้องสูญเสียไป ครั้นวัตถุนั้นชำรุดทรุด

โทรมหรือพลัดพรากจากไปก็จะมีความทุกข์ใจ เพราะไม่ยอมรักความเป็นจริงตามกฎธรรมชาติ       

๓.  เห็นว่าชีวิตนี้ (ร่างกาย จิตใจ) เป็นตัวตน และเมื่อครอบครองสิ่งใดก็เห็นสิ่งนั้นเป็นของของตน 

นอกจากนี้ยังต้องการที่จะบังคับสิ่งต่างๆ ที่ตนสัมผัสอยู่ให้เป็นไปตามที่ตนปรารถนาครั้นไม่ได้ดังใจก็จะมี

ความทุกข์ใจ   ร่างกายไม่มีความคิด จึงไม่สามารถเสาะหาวัตถุมาครองครองและใช้สอยได้ มีแต่ใจ

เท่านั้นที่เข้าไปกำกับร่างกายให้แสดงพฤติกรรมต่อวัตถุ การที่ใจเข้าไปสัมผัสสัมพันธ์ต่อวัตถุดังกล่าว 

หากไม่เข้าใจธรรมชาติความเป็นจริงของวัตถุตามกฎของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาแล้ว ใจก็มีความลุ่มหลง

ต่อวัตถุ และไปยึดมั่นสำคัญหมายว่าวัตถุที่ตนครอบครองนั้นเป็นของของตน นอกจากนี้ยังนำเอาวัตถุมา

เป็นที่พึ่งทางใจอีกด้วย อันเป็นสาเหตุให้เกิดทุกข์       เมื่อร่างกายมีวัตถุเป็นที่พึ่งอาศัย ใจควรจะมีอะไร

เป็นที่พึ่งที่อาศัย  ก่อนอื่นต้องพิจารณาว่าใจของเราต้องการอะไร แท้จริงแล้วใจต้องการความสงบเย็น 

ความสุข ความเป็นอิสระจากเครื่องพันธนาการของกิเลสตัณหา และความมีสติปัญญาที่จะละชั่ว ทำดี

ทำใจให้ผ่องใส เมื่อเป็นเช่นนั้น สิ่งที่ใจต้องการเป็นที่พึ่งที่อาศัยก็คือ ธรรมะ    จะมีสักกี่คนที่เอาธรรมะมา

เป็นที่พึ่งของใจ เห็นมีแต่เอาวัตถุมาเป็นที่พึ่ง ใจจึงเร่าร้อนยากจะหาสันติสุขได้ ขอให้พิจารณาตาม

ความเป็นจริงเถิดว่า ชีวิตของคนที่มีสมบัติวัตถุมาก ในใจเขาจะสงบเย็นหรือเร่าร้อน ส่วนมากจะเร่าร้อน

กันแทบทั้งนั้น นับจากการแสวงหาวัตถุ ได้เท่าไรก็ไม่พอ มีแต่ต้องการเพิ่มขึ้น เช่นหามาเพิ่ม ขยายงาน 

ขยายโครงการ ลงทุนเพิ่ม กู้เงินเพิ่ม เหล่านี้ล้วนเป็นของร้อนใจทั้งสิ้น ทุกครั้งที่ได้ต่ำกว่าเป้าหมาย หรือ

เก็บเงินจากลูกค้าไม่ได้ ก็จะเป็นทุกข์ หากต้องแบ่งปันให้แก่บริวารหรือผู้มีส่วนร่วมเมื่อแบ่งปันให้ไม่

ถูกใจฝ่ายใด ก็มีเสียงนินทาว่าร้ายให้ทุกข์ใจ       ในการปกครองบริหารวัตถุ เมื่อวัตถุใดวัตถุหนึ่งชำรุด

ทรุดโทรมหรือพลัดพรากจากไปก่อนเวลาอันควรก็ทุกข์ใจ ในการเสพวัตถุก็เช่นกัน หากเสพโดยขาด

ปัญญา ก็จะนำโรคภัยไข้เจ็บตลอดจนความเดือดร้อนต่างๆ มาให้ แม้เสพวัตถุชั้นดีมีความประณีต เช่น

นั่งรถเก๋งราคาแพง อยู่ในห้องหรูหราติดแอร์เย็นฉ่ำ เมื่อใจร้อนด้วยความทุกข์ ความเย็นหรือความหรูหรา

สะดวกสบายของวัตถุก็ไม่สามารถดับความทุกข์ใจอันเกิดจากเพลิงกิเลสตัณหาได้เลย       ใจที่มีธรรมะ

เป็นที่พึ่งจะช่วยดับร้อนผ่อนเย็นเมื่อเข้าไปสัมผัสสัมพันธ์กับวัตถุ โดยไม่ยอมให้วัตถุเข้ามาผูกพันใจจน

ขาดอิสรภาพ นับตั้งแต่การหามา การปกครองครอบครอง และการใช้ไป เป็นการสัมพันธ์กับวัตถุอย่าง

มีปัญญา มีสถานะเป็นนายของวัตถุ มิใช่สัมพันธ์อย่างมีกิเลสตัณหา ยอมตกเป็นทาสของวัตถุ โดยเฉพาะ

ในวาระสุดท้ายที่จะต้องจากโลกไป ก็ไม่ห่วงอาลัยให้วัตถุมาฉุดรั้งจูงจิตไปสู่อบายภูมิ ไม่ว่าวัตถุนั้นจะ

เป็นทรัพย์สินเงินทอง รวมถึงบุคคลผู้ใกล้ชิด แม้ร่างของตนซึ่งเป็นธาตุ ๔ ก็สามารถปล่อยวางได้โดย

ไม่อาลัย เพราะใจมีธรรมเป็นที่พึ่ง ธรรมจะช่วยคุ้มครองป้องกันใจให้พ้นจากทุกข์ เติมสันติสุขให้เพิ่มพูน

ยิ่งๆขึ้นไป    

จงใช้ชีวิตอย่างมีปัญญา อย่ายอมให้กิเลสตัณหานำพาเอาวัตถุหรือธาตุ ๔ 

มาหลอกล่อใจให้ลุ่มหลงจนเป็นนายเหนือใจอีกต่อไปเลย  

http://www.kanlayanatam.com/sara/sara164.htm

ที่พึ่งของใจ เรื่องโดย พระอาจารย์ชาญชัย อธิปญฺโญ    

#อ่านแล้วแบ่งกันอ่านหลายๆท่านนะจ๊ะ #อ่านหลายรอบ #ระดมสมองคิดหลายๆหน #ฝึกฝนปัญญา #พัฒนาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน #จิตรู้เท่าทันสรรพสิ่ง #ชีวิตสุขสงบเย็น #เฉกเช่นพระนิพพาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Select your language