Dhamma together:ศาสนาคืออะไร?

พระพุทธองค์ทรงชี้ทางแก่ผู้มาหา...มาฝึกกับพวกเราสิ...


ศาสนาคืออะไร? คำว่า ศาสนา ถูกทำให้มีความหมาย

สับสนโดยไม่เจตนา คือ มันเป็นมาเรื่อยๆ โดยไม่มีใคร

เจตนาจะไปทำให้มันผิดอะไรไป แต่มันก็มีความสับสน

จนไม่ค่อยจะสำเร็จประโยชน์ หรือไม่สำเร็จประโยชน์เลย

สิ่งที่เรียกว่า ศาสนา บางคนไปเล็งที่วัตถุก็มี บางคนก็ไป

เล็งที่ขนบธรรมเนียมประเพณีก็มี บางคนไปเล็งที่การเล่า

บวช การเรียนก็มี น้อยคนที่จะไปเล็งที่การปฏิบัติเพื่อ

กำจัดกิเลส พวกแรกที่เล็งถึงวัตถุนั้น ก็เช่นว่า เขาเอา

สัญลักษณ์ของศาสนานั่นแหละ มาเป็นตัวศาสนา เอา

พระพุทธรูป เอาโบสถ์ เอาวิหาร พระเจดีย์ สัญลักษณ์

ต่าง ๆ ของศาสนานั้นเป็นตัวศาสนา



เมื่อจะพูดว่า ศาสนาเจริญ เขาก็หมายถึง สิ่งเหล่านั้นมีมาก นี้เรียกว่า เอาวัตถุ เช่น โบสถ์

วิหาร พระเจดีย์ เป็นต้น ว่าเป็นตัวศาสนา แม้ที่สุดแต่ผ้าเหลือง ผ้ากาสาวพัสตร์ของภิกษุนี้

ก็ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของศาสนา เช่น เขาว่า อาณาจักรแห่งผ้ากาสาวพัสตร์อย่างนี้

ก็หมายถึงประเทศที่มันมีศาสนาเจริญรุ่งเรือง เป็นต้น ทีนี้บางพวกก็เลื่อนจากวัตถุเช่นนี้สูงขึ้น

ไปถึงเรื่องขนบธรรมเนียมประเพณี เรื่องบวช เรื่องเรียน เรื่องที่มันเป็นประเพณีก็แล้วกัน

ทำบุญทำทาน ทอดกฐิน ทอดอะไรกันตามประเพณี จนเป็นประเพณี จนหมดความหมายของ

ธรรมะไปก็มี นี่เขาก็เรียกว่า ศาสนาเหมือนกัน ถ้าศาสนาเจริญ ก็มีคนทำบุญทำทาน

ทอดกฐิน อะไรกันมากมาย ที่ดีกันไปกว่านั้น ก็ว่ามีคนบวชมีคนเล่าเรียน มีโรงเรียนมีเรียน

พระไตรปิฎกกันมาก นี่ก็ศาสนาก็เจริญ แม้ว่าเรียนพอเป็นพิธี หรือกระทั่งเป็น พิธีรีตอง นั้นก็

เป็นศาสนาไปหมด บางคนพูดว่า สร้างพระคัมภีร์ไตรปิฎก ไว้ในพระพุทธศาสนา นี่ก็เป็น

ขนบธรรมเนียมประเพณีอย่างนี้ สร้างใบลาน สร้างอะไรไว้ในพุทธศาสนา เพื่อให้คนได้ศึกษา

เล่าเรียน หนักเข้าก็เป็นใบลานที่เขียนผิด ๆ ถูก ๆ ไม่มีความหมายอะไรก็มี เพราะเขาทำ

ขายกันอย่างสินค้า นี้ก็เป็นพิธีประรำประราค่อย ๆ หายไปแล้วเดี๋ยวนี้ ศาสนาที่แท้จริงนั้น

มันคือ ตัวการปฏิบัติให้ถูกต้อง ตัวศาสนาที่แท้จริงนั้น คือ ตัวการ ปฏิบัติให้ถูกต้อง ถ้าเรียก

อย่างไพเราะ พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่า พรหมจรรย์ ทีนี้พอมาถึงคำว่า "พรหมจรรย์"

มันก็ทำความสับสนอีกนั่นแหละ เพราะมันมีความหมายหลายอย่าง ที่ว่าคนรักษา พรหมจรรย์

หญิงสาวชายหนุ่ม รักษาพรหมจรรย์ อย่างนี้ก็เป็นเรื่องไม่ทำผิดในทางเพศ ก็เรียกว่า

พรหมจรรย์ การบวชนี่ก็ประพฤติพรหมจรรย์ การบวชเฉย ๆ แม้ไม่ประพฤติอะไร ก็เรียกว่า

พรหมจรรย์ แต่ถ้าโดยเนื้อแท้แล้ว คำว่า พรหมจรรย์ นั้นหมายถึง การประพฤติที่สูงสุด

การประพฤติที่ทำด้วยความเสียสละสูงสุด ตั้งอกตั้งใจที่สุด มุ่งหมายจะกำจัดความชั่ว

หรือกิเลส แล้วก็เรียกว่า พรหมจรรย์ นั่นคือ ตัวสิ่งที่เรียกว่า ศาสนา ขอให้รู้จักคำว่า

พรหมจรรย์ นี้ให้กว้าง หมายถึง ตัวศาสนาทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น คำพูดที่พระพุทธเจ้าท่าน

ตรัสว่า เธอจงไปประกาศพรหมจรรย์ ใช้ภิกษุ ทั้งหลายที่สำเร็จการปฏิบัติแล้ว ว่าเธอจงไป

ประกาศพรหมจรรย์อย่างนี้เป็นต้น ถ้าคนแรกมา ท่านก็มา ๆ มาประพฤติพรหมจรรย์ นี่พอตรัส

อย่างนี้ ก็ถือว่าคนนั้นเป็น ภิกษุ เรียกว่า เอหิภิกขุ อุปสัมปะทา เอหิภิกขุ พรัมมะ จริยัง จะระถิ

มาประพฤติพรหมจรรย์ อันนี้ก็เป็นภิกษุแล้ว นี่ต้องประพฤติพรหมจรรย์ พอปฏิบัติได้ผล เป็นที่

พอใจ หรือถึงที่สุดแล้ว ท่านก็ไล่ว่าไป ๆ ไปประพฤติ ไปเผยแพร่พรหมจรรย์ ไปประกาศ

พรหมจรรย์ นั่นแหละคือ ตัวศาสนาที่แท้จริง คือ ทำให้รู้แล้วให้ปฏิบัติให้ถูกต้อง จนได้รับผล

ของการปฏิบัติ การไปประกาศพรหมจรรย์ ก็ต้องไปทำให้เขาปฏิบัติได้ จนสำเร็จประโยชน์

พุทธทาสภิกขุ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Select your language