Dhamma together:เห็นประโยชน์อย่างสัมมาทิฏฐิ เห็นโทษอย่างสัมมาทิฏฐิแล้ว มันก็วางเท่านั้นแหละ

พระพุทธองค์ทรงชี้ทางแก่ผู้มาหา...มาฝึกกับพวกเราสิ...



อปัณณกะหลักที่สำคัญคือ ข้อปฏิบัติที่ไม่ผิด

ถ้าเรากระทบทั้งตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันไม่ยินดียินร้าย

นั่นแหละ คือเราไม่เป็นทาสอารมณ์นั่นแหละ คือเรา

ไม่หลงอารมณ์ ไม่ต้องหลงรูป เรามีการสังวรสำรวมอยู่

อย่างนี้เรียกว่ามีการสอบอารมณ์ของเรา ไม่ต้องให้ใคร

สอบเพราะของเหล่านี้มีอยู่ในเราหมดแล้ว ของที่เรามีอยู่

แล้วนี้ ไม่จำเป็นจะต้องให้ผู้อื่นลำบากแก่เรา เราควรสอบ

เอาเองซิ ที่มันกระทบมาแล้วมันยินดีไหม ? เออ...มันยัง

ยินดีอยู่ มันยังยินร้ายอยู่ เพราะอะไร ? หาเอาเองซิ

เรารู้มาแล้วว่าอารมณ์นี้มันเป็นอย่างนี้ เราหลงอารมณ์แล้วนี่ เราจะสอบอารมณ์ของเรา

แก้ซิทำไมมันยินดี ? เพราะอะไร ? ต้องดูซิ เพราะเราทำความเข้าใจว่า อันนั้นเราชอบ

อุปาทานมันเกิดเราก็เข้าใจอันนั้นดี เพราะเราปรุงแต่งขึ้นมา เราชอบจึงดี อันนั้นเราไม่ชอบ

ปรุงแต่งไปก็ไม่ยินดี เป็นของร้าย มันเป็นของมันอยู่อย่างนั้น ที่ดี หรือร้าย เราเอาเข้าไปใส่ใน

ตรงนั้น แต่ความจริง อารมณ์มันไม่อะไร มันเป็นกับบุคคลที่ไปหมายมั่นยึดมั่นมัน ถ้าดีก็ยึดว่า

มันดี ร้ายก็ยึดว่ามันร้าย เหมือนโลกนี้ โลกนี้มันเป็นปกติของมันอยู่อย่างนี้ เราว่ามันไม่ดี

หรือว่าเราว่ามันดี สารพัดอย่าง โลกมันก็เฉย มันเป็นปกติของมันอยู่ ตัวเราเองนี่ซิไม่เป็นปกติ

เดี๋ยวชอบอันนี้ เดี๋ยวชอบอันนั้น เดี๋ยวนินทาอันนี้ อย่างนี้นะ เราเองเสือกไสไปยึดมั่นถือมั่น

อย่างนั้น ฉะนั้นจะปฏิบัติในที่สงบให้รู้จักว่า อันนี้คือสอบอารมณ์ จนกว่าที่ตา หู จมูก ลิ้น

กาย ใจ มันสัมผัสอารมณ์มาแล้วทุกอย่าง มันจะวางตัวเป็นกลางๆ ไม่ยินดียินร้าย นี่

เพราะอะไร ? ถ้ายินดีก็ไม่ถูก มันจะนำทุกข์มาให้เรา ถ้ายินร้ายก็ไม่ถูก มันจะนำทุกข์มาให้เรา

เมื่อเป็นเช่นนั้น เราก็เป็นทาสของอารมณ์อยู่ เป็นทาสของตัณหา เป็นทาสของความอยากอยู่

ตลอดเวลา ไม่ใช่ทางที่จะพ้นทุกข์ เมื่อมันติดอารมณ์อยู่อย่างนั้น เราก็รู้จักว่าอารมณ์เป็น

อย่างนี้ เราก็เรียกว่าสอบอารมณ์ เรารู้จักมันอยู่ เราก็แก้ไปเรื่อยๆ นี่ปฏิบัติไม่ผิด จนกว่าจะ

เห็นโทษมัน เห็นโทษในการยึดมั่นถือมั่นในความร้าย เห็นโทษมันอย่างแท้จริงมันก็วาง

และมองเห็นประโยชน์จากการปล่อยวาง นี้ก็มีประโยชน์ เห็นประโยชน์อย่างสัมมาทิฏฐิ

เห็นโทษอย่างสัมมาทิฏฐิแล้ว มันก็วางเท่านั้นแหละ มันจะไปตรงไหนล่ะ ?

จะปฏิบัติขนาดไหน ? ถ้าไม่เห็นโทษแล้ว มันเป็นไปไม่ได้ ถ้าไม่เห็นประโยชน์ แน่นอนก็หมด

ศรัทธา เมื่อเราดูอารมณ์แล้วเห็นโทษก็ละ เมื่อเห็นประโยชน์ลำบากก็ทำได้ เท่านี้เอง!

ราจะรู้อารมณ์ก็เป็นสัมมาปฏิปทา ถ้าเป็นเช่นนี้เป็น อปัณณกปฏิปทา* ไม่ผิด เป็นข้อปฏิบัติ

อย่างนี้ เป็นข้อพิจารณาอย่างนี้ไม่ผิด คือไม่ยินดียินร้าย เกิดแล้วดับไป วางมันอย่างนั้น

ตลอดไป เป็นอุเบกขา การปฏิบัติท่านให้ดูอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันสัมพันธ์ติดต่อ

กันอยู่นี่ จะโกรธ จะเกลียด มันก็รู้จักกันอยู่ตรงนี้ มันไม่รู้ที่อื่น ถ้าอารมณ์ยินดีก็ยินดีจนหลง

เมาอารมณ์ดีก็เมาดี อารมณ์ร้ายก็เมาร้าย ทำไมจะไม่รู้จักว่า เราปฏิบัติผิด ปราชญ์ท่านพูดไว้

ถูกแล้ว..

หลวงปู่ชา สุภัทโท ที่มา ทางให้เกิดปัญญา

#อ่านแล้วแบ่งกันอ่านหลายๆท่านนะจ๊ะ #อ่านหลายรอบ #ระดมสมองคิดหลายๆหน #ฝึกฝนปัญญา #พัฒนาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน #จิตรู้เท่าทันสรรพสิ่ง #ชีวิตสุขสงบเย็น #เฉกเช่นพระนิพพาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Select your language