พระพุทธองค์ทรงชี้ทางแก่ผู้มาหา...มาฝึกกับพวกเราสิ...
ทุกเช้าหลังจากการออกกำลังกาย อาจารย์จะชวนผู้ปฏิบัติธรรมออกไปเดินจงกรมรอบที่พัก
โดยให้มีสติอยู่กับการเดิน คือรู้กายเมื่อเคลื่อนไหว และรู้ใจหากเผลอคิดฟุ้งซ่าน
อาจารย์จะให้สัญญาณหยุดเดินเป็นระยะ ๆ ระหว่างที่ยืนนิ่งก็ให้ผู้ปฏิบัติหันมารับรู้ลมหายใจ
เข้าและออก และรู้ทุกอาการที่เกิดกับใจ ส่วนอะไรที่มากระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็สักแต่ว่า
รู้เฉย ๆ วันที่สองของการเดิน อาจารย์ชวนทุกคนถอดรองเท้า หลายคนรู้รสชาติของความเจ็บ
ปวดเมื่อหินและกรวดน้อยใหญ่ทิ่มฝ่าเท้าเกือบตลอดทาง ยังไม่นับยุงที่รุมกัดทุกครั้งที่เดิน
ผ่านสวน ตลอด ๔๕ นาทีของการเดินจงกรมจึงกลายเป็นช่วงเวลาแห่งความทุกข์ของ
ผู้ปฏิบัติ แต่นั่นยังเทียบไม่ได้กับประสบการณ์ในวันต่อ ๆ มาที่มีฝนตกพรำ ๆ ตั้งแต่เช้ามืด
ตามทางจะมีมดนับพัน ๆ เดินขวักไขว่เป็นแถวขวางทางเดินของผู้ปฏิบัติ ไม่ว่าตั้งใจเดิน
เพียงใด ก็จะมีมดไต่ตอมขึ้นมาตามขาและกัดตามอำเภอใจ บางคนหนักกว่านั้นเพราะมี
สัญญาณให้หยุดเดินขณะที่เดินเฉียดรังมดพอดี ดังนั้นเดิน ๆ ไปก็จะได้ยินเสียงคนกระทืบเท้า
หลายครั้งติด ๆ กันเพื่อสะบัดมดให้หลุดจากขา หรือมีเสียงปัดมดตามขากางเกงดังถนัด
นี่ยากที่จะรักษาความสงบสำรวมไปได้ตลอดทาง ไม่น่าแปลกใจที่หลายคนขยาดการเดิน
จงกรมตอนเช้า อาจารย์จึงแนะนำให้ผู้ปฏิบัติสังเกตดูกายของตนว่ามีปฏิกิริยาอย่างไรเมื่อมด
ไต่ยุงตอม และให้ดูใจของตัวเองด้วย ว่ารู้สึกอย่างไร มีความกลัว ตื่นตระหนก โวยวาย ตีโพย
ตีพายอยู่ข้างในหรือไม่ โดยเฉพาะตอนที่ถูกกัด ใจมีอาการอย่างไร ดูเฉย ๆ ไม่ต้องทำอะไร
กับอาการเหล่านั้น อาจารย์ย้ำกับผู้ปฏิบัติว่า จริง ๆ แล้วกายของเราทนมดกัดได้ แต่ที่ทนไม่
ได้คือใจต่างหาก และที่เจ็บปวดจนอยู่เฉยไม่ได้นั้น เป็นเพราะใจไม่มีสติ จึงเผลอไปทุกข์
กับกายหรือเอาความทุกข์ของกายมาเป็นความทุกข์ของใจไปด้วย
ทุกข์กายนั้นแค่ ๑ ส่วน แต่อีก ๒-๓ ส่วนนั้นเป็นเพราะทุกข์ใจต่างหาก แต่ถ้ามีสติ
เห็นอารมณ์ที่ปรุงแต่งใจ อารมณ์นั้นก็จะหลุดไปจากใจ ใจก็จะกลับมาเป็นปกติ ความทุกข์
จะเบาบางลง คงมีแต่ความเจ็บปวดที่กายเท่านั้น พูดอีกอย่างคือมีแต่ทุกขเวทนา(ทางกาย)
แต่ไม่มีความทุกข์ทรมาน(ทางใจ) อาจารย์ยังแนะอีกว่าหากจะมีสติดูความเจ็บปวดเลยก็ได้
แต่ถ้าสติไม่ฉับไวพอก็จะเผลอพลัดเข้าไปจมอยู่กับความเจ็บปวดได้ง่าย กลายเป็นปวด
มากขึ้น หลังจากเดินจงกรม(วิบาก)ไปได้ ๕ วัน ผู้ปฏิบัติธรรมท่านหนึ่งได้ทดลองทำตามที่
อาจารย์แนะนำ และได้เขียนเล่าประสบการณ์การปฏิบัติของตนไว้อย่างน่าสนใจ ว่า
“เดินจงกรมตอนเช้า วางใจว่าจะดูความเจ็บ ได้หยุดบนรังมด สมใจ สภาวะเกิดดังนี้-มองเห็นว่ามดทั้งรังไต่ขึ้นมา-จิตกลัว- รู้ว่ากลัว-ความกลัวดับไป-จิตบอกว่าให้วางใจสบาย ๆ เป็น ไงเป็นกัน” จากนั้นเธอก็มาดูความรู้สึกและอาการของกาย “รู้สึกถึงลักษณะความเจ็บ,แสบ,ร้อน,จี๊ด ๆ เหมือนโดนธูปจี้ เป็นจุด ๆ บางจุดก็ตื้นลึกไม่เท่ากัน กว้างแคบ,เป็นระลอก รู้สึกกล้ามเนื้อเกร็ง,หัวใจเต้นแรงเร็วขึ้น-กัดฟันเม้มปาก, กะพริบตา,ยืนนิ่ง” ระหว่างนั้นเธอกลับมาดูจิต และพบว่า |
“เห็นใจกระสับกระส่าย-รู้-ดับ-นิ่ง สติเกิดความรู้สึกเมตตาสงสารมด เขาคงโกรธ เขาจึงกัด
เอาตอนนี้ใจสบายตั้งมั่น เรียกเขาว่าอาจารย์มด จะกัดก็กัดไป จะดูให้ชัด”
แล้วก็สรุปตอนท้ายว่า
“การเห็นความเจ็บ,ลมหายใจ,จิตที่สงบนิ่ง แยกกันเป็นคนละส่วน ๆ เป็นเรื่อง ๆ แปลกดี”
ผู้ปฏิบัติท่านนี้ได้ประจักษ์ด้วยตนเองว่า แม้กายปวด แต่ใจสบายและสงบนิ่งได้ เมื่อกายทุกข์ ไม่ได้หมายความว่าใจจะต้องทุกข์ตามไปด้วย คนส่วนใหญ่นั้นทันทีที่กายทุกข์ใจก็ทุกข์ไปด้วย อันที่จริงทั้ง ๆ ที่กายยังไม่ทุกข์เลย แต่ใจก็ทุกข์ไป ก่อนแล้ว เช่น พอรู้ว่ามดไต่ขา ยังไม่ทันจะถูกกัด ใจก็กระสับกระส่าย ทุรนทุรายไปเสียแล้ว ความทุกข์ใจ นี้เองที่ทำให้ความเจ็บปวดเวลาถูกมดกัดเพิ่มเป็นทวี ตรีคูณ หลายคนเมื่อรู้ว่าความทุกข์ใจเป็นตัวปัญหา
|
วิธีการที่นิยมทำคือพยายามกดข่มหรือขจัดมันให้หมดไป แต่ยิ่งทำเช่นนั้นมันก็ยิ่งผุดโผล่
ไม่ยอมหายไปง่าย ๆ ตรงข้ามกับผู้ปฏิบัติท่านนี้ ซึ่งไม่ได้ทำอะไรกับอารมณ์ดังกล่าว
นอกจากรู้หรือดูมันเฉย ๆ แล้วเธอก็พบว่า
“จิตกลัว-รู้ว่ากลัว-ความกลัวดับไป.....เห็นใจกระสับกระส่าย-รู้-ดับ-นิ่ง”
รู้หรือดูในที่นี้หมายถึงมีสติ เมื่อมีสติ การปรุงแต่งก็ดับใจ ใจก็สงบ นิ่ง สบาย แม้ความปวด
หรือทุกขเวทนายังอยู่ แต่ก็เป็นส่วนกาย ไม่กระเทือนไปถึงใจได้ เรียกว่า
อยู่กับทุกขเวทนาได้โดยไม่ทุกข์
พระไพศาล วิสาโล http://www.visalo.org/article/matichon255301.htm
#อ่านแล้วแบ่งกันอ่านหลายๆท่านนะจ๊ะ #อ่านหลายรอบ #ระดมสมองคิดหลายๆหน #ฝึกฝนปัญญา #พัฒนาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน #จิตรู้เท่าทันสรรพสิ่ง #ชีวิตจักสนุก สุข สงบ เย็น #เฉกเช่นพระนิพพาน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น