Dhamma together:เมตตา-กรุณา-มุทิตา รักษาคน อุเบกขา รักษาธรรม

พระพุทธองค์ทรงชี้ทางแก่ผู้มาหา...มาฝึกกับพวกเราสิ...

ความเชื่อถือที่คลาดเคลื่อนนิดๆ หน่อยๆ ซึ่งทำให้การปฏิบัติผิดได้ เช่น การถือแต่ลัทธิ

กรรมเก่า บางทีก็ทำให้เรามองคนว่าที่เขาประสบผลร้าย เกิดมายากจน หรือได้รับเคราะห์

กรรมต่างๆ ก็เพราะเป็นกรรมของเขาเท่านั้น เมื่อเราบอกว่านี่เป็นกรรมของเขาแล้ว เราก็เลย

บอกว่าให้เขาก้มหน้ารับกรรมไป เราก็ไม่ต้องไปช่วยอะไร เมื่อถือว่าเป็นกรรมของเขา

เราก็วางเฉย แถมยังบอกว่าเราปฏิบัติธรรมด้วย คือถืออุเบกขา วางเฉยเสีย ไม่ช่วย คนก็เลย

ไม่ต้องช่วยเหลือกัน คนที่ได้รับเคราะห์ ได้รับความทุกข์ยากลำบาก ก็ต้องลำบากต่อไป

มีฝรั่งพวกหนึ่งติเตียนพุทธศาสนาว่าสอนคนแบบนี้ เราต้องพิจารณาตัวเองว่า เราสอน

อย่างนั้นจริงหรือเปล่า แต่ตามหลักพุทธศาสนาที่แท้นั้น ไม่ได้สอนอย่างนี้ เรื่องอย่างนี้

มีความละเอียดอ่อน เราบอกว่า คนประสบเคราะห์กรรม ได้รับความทุกข์ยากเดือดร้อน

ก็กรรมของเขา ให้เขาก้มหน้ารับกรรมไป อย่างนี้ถูกไหม อย่างนี้ถือว่าวางอุเบกขาใช่หรือไม่?

อุเบกขาแปลว่าอะไรแน่



อุเบกขา คือความวางเฉยในแง่ที่วางใจเป็นกลาง ในเมื่อ

เขาสมควรจะต้องรับผิดชอบตัวเอง เช่นเกี่ยวกับความ

เป็นธรรม เพื่อรักษาความเป็นธรรมแล้ว ต้องวางใจเป็น

กลางก่อน เมื่อจะต้องลงโทษก็ลงโทษไปตามเหตุผล คือ

ตามกรรมที่เขาทำ เช่น ศาลจะทำหน้าที่ให้ถูกต้อง เมื่อคน

ทำความผิดมา ผู้พิพากษาก็ต้องวางใจเป็นกลาง แล้ว

ตัดสิน ถ้าเขาเป็นผู้ผิด ก็ต้องได้รับโทษตามกฎหมาย

อย่างนี้เรียกว่า วางอุเบกขา

การวางอุเบกขานั้นเป็นไป พร้อมกับการรักษาธรรม คือในจิตใจมีเจตนาที่จะรักษาธรรมไว้

เมื่อจะช่วยคนก็ต้องไม่ให้เสียธรรม ถ้าหากคิดเมตตากรุณาช่วยโจรแล้วเสียธรรมก็ผิด

เมตตากรุณาต้องไม่เกินอุเบกขา

เมตตา-กรุณา-มุทิตา รักษาคน แต่ อุเบกขานั้นรักษาธรรม

ในกรณีที่ไม่ได้รักษาธรรมเลย และก็ไม่ช่วยคน อย่างนี้ผิด นี่ว่าอย่างรวบรัดแบบพูดกันง่ายๆ

ถ้าเราไปเจอคนทุกข์ยากขัดสนข้นแค้น เราจะอ้างว่าเป็น (ผล) กรรมของเขาแต่ชาติปางก่อน

ให้เขาก้มหน้ารับกรรมไป การอ้างอย่างนี้ผิดถึง ๓ ด้าน ๓ ขั้นตอน

๑. ถ้าเป็นผลกรรมชาติก่อน นี่ก็คือเขาได้รับผลของกรรมนั้นแล้ว คือเกิดมาจน สภาพปัจจุบัน

คือสภาพที่ได้รับผลแล้ว ไม่ใช่สภาพรอผล เมื่อผลกรรมเก่าออกไปแล้ว หน้าที่ของเราที่จะทำ

ต่อสภาพปัจจุบันที่เขาทุกข์ยาก ก็คือ ต้องใช้เมตตากรุณาไปช่วยเหลือ เหมือนกับกรณีเด็ก

ว่ายน้ำไม่เป็น เล่นซน ไม่เชื่อฟังพ่อแม่แล้วไปตกน้ำ การที่เขาตกน้ำก็เป็นการรับ (ผล) กรรม

ของเขาแล้ว ตอนนี้เขากำลังทุกข์ ถึงตอนที่เราต้องใช้ความกรุณาไปช่วย จะไปอ้างว่าเป็น

(ผล) กรรมของเขาแล้วปล่อยให้เด็กตาย ย่อมไม่ถูกต้อง

๒. คนเราทำกรรมดี-ชั่ว ต่างๆ มักจะปนๆ กันไป บางคนทั้งที่ทำความดีมาก แต่เวลาจะตาย

จิตแว่บไปนึกถึงกรรมไม่ดี เลยพลาดมาเกิดไม่ดี เราพวกมนุษย์ปุถุชนไม่ได้หยั่งรู้เรื่องอย่างนี้

เพียงพอที่จะตัดสิน แต่ภาพปัจจุบันคือเขาทุกข์เดือดร้อนเป็นที่ตั้งของกรุณา จึงต้องใช้ธรรม

ข้อกรุณาเข้าไปช่วยเหลือ

๓. ปรากฏการณ์อย่างหนึ่งหรืออย่างเดียวกันอาจเกิดจากเหตุปัจจัยต่างอย่าง หรือหลายเหตุ

ปัจจัยประกอบกัน อย่างที่พูดแล้วในเรื่องนิยาม ๕ เหตุปัจจัยในอดีตก็มี เหตุปัจจัยในปัจจุบัน

ก็มี เหตุปัจจัยภายในก็มี เหตุปัจจัยภายนอกก็มี ในเรื่องความยากจนนี้ ถ้าเป็นสภาพสังคม

ขอให้ลองไปดูอย่างจักกวัตติสูตร หรือ กูฏทันตสูตรจะเห็นว่าพระพุทธเจ้าทรงเน้นเหตุปัจจัย

และการแก้ไขปัญหาด้านการบริหารการปกครองบ้านเมือง อย่างนี้เป็นตัวอย่าง ซึ่งจะต้องไม่

มองข้ามไป อย่ามองอะไรแบบทึกทักทันทีง่ายๆหลักธรรมประเภทนี้ทรงสอนไว้เพื่อให้รู้จักใช้

ปัญญาพิจารณาแยกแยะความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย ไม่ใช่มองแบบตีคลุม ในกรณีอย่างนี้

ถ้าเราถืออุเบกขาวางเฉย ก็กลายเป็น อัญญาณุเบกขา คือเฉยโง่ กลายเป็นบาปอกุศลไป

เพราะวางเฉย โดยไม่รู้เรื่องรู้ราว ไม่เหมือนกรณีที่มีคนลักขโมยของ แล้วถูกจับคุมขัง เรารู้ว่า

อะไรเป็นอะไร แล้วเราจึงวางอุเบกขา เพื่อรักษาธรรม ฉะนั้น ถ้าหากคนเขามีความทุกข์ยาก

เดือดร้อน เรื่องอะไรจะไม่ช่วย การช่วยนั้นก็เป็นการทำกรรมดีของตัวเราเองด้วย และก็

เป็นการเมตตากรุณาช่วยเขา ให้เขาทำความดีโดยเมื่อได้รับการช่วยเหลือนั้นแล้ว เขาก็มี

โอกาสแก้ไขปรับปรุงตัวและมีกำลังที่จะไปทำกรรมดีอื่นๆ ต่อไป แต่การช่วยที่ดีที่สุดคือ

การช่วยให้เขาช่วยตัวเองได้ ทั้งนี้เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาในรายละเอียด แต่การที่จะบอก

เหมาลงไปว่า คนได้รับทุกข์ยากเดือดร้อน เป็นกรรมของเขาปล่อยให้เขารับกรรมไป อย่างนี้

ไม่ถูก ต้องมีหลักว่าเป็นเรื่องของการรักษาธรรมหรือไม่ เหล่านี้เป็นแง่ต่างๆ ที่จะมาช่วยใน

การพิจารณาเรื่องกรรม

ป. อ. ปยุตฺโต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Select your language