Dhamma together:"อวิชชานุสัย"

พระพุทธองค์ทรงชี้ทางแก่ผู้มาหา...มาฝึกกับพวกเราสิ...

ความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัวนี้เรียกว่ากิเลส

แต่ว่าความเคยชินซ้ำๆ ซากๆ ของสิ่งนั้นที่เคยชินอย่างยิ่งในนิสัย

สันดานของเรา ส่วนนั้นเรียกว่าอาสวะ แล้วมีชื่อเรียกอย่างอื่นอีกว่า

สังโยชน์บ้าง ว่าอนุสัยบ้าง อาสวะนี้แปลว่าของหมักดอง

เอาอะไรใส่ไหดองไว้นานๆ เรื่อยไปนี่ เขาเรียกว่าของดอง

กริยาอาการอย่างนั้นคืออาการของอาสวะ รักนั่น รักนี่ รักโน่น

ชินเป็นหมื่นครั้ง พันครั้งเหมือนกัน อย่างนี้เขาเรียกว่า

"ราคานุสัย" คืออวิชชาที่สะสมไว้สำหรับที่จะรัก


ราคานุสัย แปลว่า ราคะที่นอนอยู่ในสันดานแล้วยังมีความเคยชินที่จะโกรธด้วยใช่ไหม ตั้งแต่เกิดมา

เคยโกรธกี่ครั้ง กี่สิบครั้ง กี่ร้อยครั้ง กี่พันครั้ง มันมีความเคยชินเท่าไหร่ นี่ความเคยชินในการโกรธนี่

เขาเรียกว่า "ปฏิฆานุสัย" ที่เราโง่ๆๆ ก็เรียกว่า "อวิชชานุสัย" ความโง่ที่นอนอยู่ในสันดาน...

ความเคยชินที่จะโง่ ที่จะไปกลัวบ้าง ที่จะไปวิตกกังวลบ้าง ขอให้เข้าใจ จำไว้ง่ายๆ ว่า

โกรธทีหนึ่ง เราก็สะสมความเคยชินสำหรับโกรธทีหนึ่ง

เรารักหรือชอบด้วยกำหนัดยินดีทีหนึ่ง ก็สะสมความเคยชินอย่างนี้ไว้ทีหนึ่ง

เราโง่ทีหนึ่งก็สะสมความเคยชินอย่างนี้ทีหนึ่ง แล้วมันสะสมไว้มาก ดังนั้นมันจึงพร้อมพรักที่จะออกมา

เมื่อตาเห็นรูปแป๊ปเดียวมันก็โง่ได้ มันก็หลงรักได้ หรือหลงเกลียดได้ หรือถ้ามันไม่เข้าใจมันก็สงสัยได้

พระพุทธเจ้าท่านจึงบัญญัติไว้ดีมาก จดและจำไว้อีกทีหนึ่งว่า ถ้าเราได้รับความสุขความพอใจนะ

มันก็เพิ่มไอ้ราคานุสัย คือชินที่จะรัก ถ้าเราได้รับความทุกข์โทมนัสขัดใจ เราก็เพิ่มปฏิฆานุสัย ชินที่จะโกรธ

ถ้ามันไม่สุขไม่ทุกข์ มันไม่แน่ ว่าอะไรแน่ อย่างนี้มันก็เพิ่มความโง่ คือความสงสัย ลังเล วิตกกังวล พัวพัน

อยู่นี่ทำไมเราจึงโกรธง่าย เกลียดง่าย กลัวง่าย รักง่าย แว่บเดียวเหมือนกับฟ้าแลบ เพราะว่าไอ้สิ่งที่เรียกว่า

อนุสัยหรือสังโยชน์ อาสวะนี่มันเต็มปรี่อยู่ในสันดาน เคยรัก เคยโกรธ เคยเกลียด เคยกลัวตั้งร้อยครั้ง

พันครั้ง หมื่นครั้ง แสนครั้ง แล้วก็ตั้งแต่ออกจากท้องแม่มาก็เริ่มทำเป็นแล้ว จนบัดนี้

เพราะฉะนั้นจึงคิดดูคำนวณดูว่ามันเหนียวแน่นสักเท่าไร ไอ้ความมากมายอย่างนี้มันเหนียวแน่นสักเท่าไร

นี่มันตอบได้ทันทีว่าทำไมมันจึงละยาก

พุทธทาสภิกขุ

#๑๑๑ปีพุทธทาส


#อ่านแล้วแบ่งๆกันอ่านหลายๆท่าน #อ่านหลายรอบ #ระดมสมองคิดหลายๆหน #ฝึกฝนปัญญา #ประยุกต์ปรับใช้ในชีวิตประจำวัน #จิตรู้เท่าทันสรรพสิ่ง #ชีวิตสุขสงบเย็น #เฉกเช่นพระนิพพาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Select your language