พระพุทธองค์ทรงชี้ทางแก่ผู้มาหา...มาฝึกกับพวกเราสิ...
ในวันที่สมมติกันว่า เป็นวันมาฆปุณณมี คือ เพ็ญเดือนมาฆะ สำหรับโอวาทปาติโมกข์นั้น
แบ่งออกได้เป็น ๓ หัวข้อว่า
สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง การไม่กระทำซึ่งบาปทั้งปวง
กุสะลัสสูปะสัมปะทา การทำกุศลให้ถึงพร้อม
สะจิตตะ ปะริโยทะปะนัง ทำจิตของตนให้ขาวผ่อง...
ถ้าท่านทั้งหลายจะฟังและสังเกตให้ดี ก็ย่อมจะเข้าใจได้ด้วยตนเอง
ว่าโอวาท ๓ ข้อนี้มุ่งหมายอย่างไร...
สำหรับคนชั่วคนบาป ก็ทรงบัญญัติว่า อย่าทำบาป
สำหรับคนดีก็ทรงบัญญัติว่า ทำดีให้เรื่อยไปจนกว่าจะเต็มเปี่ยม
ส่วนคนที่สูงขึ้นไปก็ดี ก็คือคนบริสุทธิ์ ไม่ 'ติดอยู่' ในความชั่วหรือความดี จึงจะมีจิตใจบริสุทธิ์
จึงได้ทรงบัญญัติขึ้นอีกบทหนึ่งว่า การกระทำซึ่งจิตใจของตนให้บริสุทธิ์ คือขาวผ่อง ทีนี้ก็จะได้
พิจารณากันบ้างถึงคำว่าคนบริสุทธิ์ ทำไมจึงว่าคนบริสุทธิ์นี่ยิ่ง อันนี้สูงยิ่งไปกว่าคนดี คนดีใคร ๆ
ก็รู้ว่าตามความหมายที่เขาเรียกกันว่าคนดีนั้น ก็คือคนที่ไม่เบียดเบียนใคร หรือว่าทำมาหากิน
โดยสุจริต อย่างที่โลกเขาบัญญัติกันว่าเป็นคนดี แต่คนดีชนิดไหนก็ตาม ยังมีกิเลสเหลืออยู่
เป็นโลภะ โทสะ โมหะ อย่างนั้นอย่างนี้ บางทีก็เก็บซ่อนไว้ก็มี แม้ว่าจะดีถึงขนาดเป็นเทวดา
ก็ยังมีกิเลสชนิดใดชนิดหนึ่ง ส่วนใดส่วนหนึ่งเหลืออยู่ เป็นคนดีอย่างพรหม มันก็ยังมีกิเลส
ที่ยึดมั่นตัวตนเหลืออยู่มากทีเดียว ที่เห็นได้ง่ายๆ ก่อนนั้นก็คือว่า ไอ้คนที่ว่าดีนั่นแหละ
ก็ยังต้องนั่งเช็ดหัวเข่าด้วยน้ำตา หรือน้ำตาเช็ดหัวเข่าอะไรทำนองนั้นอยู่บ่อยๆ อย่างนี้เขาเรียกว่า
จิตใจยังหม่นหมอง ถ้าจิตใจไม่หม่นหมอง ทำไมจะต้องร้องไห้ ทำไมจะต้องกลัว
ทำไมจะต้องสะดุ้งหวาดเสียว ทำไมต้องวิตกกังวลจนนอนไม่หลับ แม้แต่จะวิตกกังวลว่า
บุญนี้จะหมดสิ้นไปเสีย ก็ยังทำให้นอนไม่หลับได้เหมือนกัน อย่างนี้ไม่เรียกว่า จิตนั้นขาวผ่อง
ยังเต็มอยู่ด้วยความวิตกกังวลยังเต็มอยู่ด้วยความกลัว ท้ายที่สุดแต่ความหวังซึ่งหวังอะไรกัน
ก็ไม่ทราบ เจ้าตัวก็ไม่ทราบ แต่ก็ยังมีความหวังอย่างนั้น หวังอย่างนี้
เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอย่างนั้นอย่างนี้ อย่างนี้ก็เรียกว่า จิตนั้นยังไม่บริสุทธิ์ ยังไม่ขาวผ่อง
ต้องทำให้หมดไปจากสิ่งเหล่านั้นอีกทีหนึ่ง
จึงจะเรียกว่า คนที่มีจิตบริสุทธิ์แล้วเรียกว่าเป็นคนบริสุทธิ์ เพียงเท่านี้ก็จะเห็นได้แล้วว่า
คนดีนี่ตามความหมายของคนทั่วไปนั้นยังเป็นเรื่อง
ยังเป็นคนละอย่างกับคนที่เรียกว่าคนบริสุทธิ์
คือ มีจิตใจบริสุทธิ์ ไม่มีกิเลสเหลืออยู่แม้แต่ส่วนใดส่วนหนึ่ง
ถ้าจะพูดถึงบุคคลที่บริสุทธิ์สิ้นเชิงนี้
ก็จะมีแต่พระอรหันต์พวกเดียวเท่านั้นถ้ายังไม่ถึงกับเป็นพระอรหันต์ก็ยังเรียกว่า ยังไม่บริสุทธิ์
ยังไม่สิ้นเชิง เป็นพระโสดาบันพระสกิทาคามี พระอนาคามี นี่เป็นแต่เรื่องบริสุทธิ์โดยแน่อน
แต่ยังไม่บริสุทธิ์สิ้นเชิง
พุทธทาสภิกขุ ที่มา : มาฆบูชาเทศนา ปี ๒๕๑๖
#อ่านแล้วแบ่งกันอ่านหลายๆท่าน #อ่านหลายรอบ #คิดหลายๆหน #ฝึกฝนปัญญา
#พัฒนาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน #จิตรู้เท่าทันสรรพสิ่ง #ฉลาดใช้ #ชีวิตดี #เฉลียวคิด #ชีวิตจักสนุก
#สุขสงบเย็น #เฉกเช่นพระนิพพาน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น