พระพุทธองค์ทรงชี้ทางแก่ผู้มาหา...มาฝึกกับพวกเราสิ...
ในทัศนะของคนทั่วไป ความสุขของชีวิตอยู่ที่การมีหรือหามาได้มาก ๆ ไม่ว่าทรัพย์สิน
เงินทอง ชื่อเสียง เกียรติยศ อำนาจ ยิ่งมีมากเท่าไร ก็ยิ่งเป็นสุขมากเท่านั้น ความสำเร็จหรือ
ความเจริญก้าวหน้าก็เช่นกัน วัดกันที่ตรงนั้น ถ้ามีเงินมากขึ้น มีรถยนต์เพิ่มขึ้น มีบ้าน
หลังใหญ่ขึ้น หรือมีตำแหน่งที่สูงขึ้น ก็ถือว่ามีความสำเร็จและเจริญก้าวหน้ามากกว่าเดิม
แต่ความสุขทางใจหรือความสุขทางธรรมนั้นสวนทาง กับความสุขทางโลก คนเราจะพบกับความสุขทางใจได้ ต่อเมื่อรู้จักลดละหรือสละออกไป เริ่มจากการสละ หรือให้สิ่งของที่มีอยู่แก่ผู้อื่น เริ่มจากการสละหรือให้ สิ่งของที่มีอยู่แก่ผู้อื่น เมื่อเราให้ทานหรือบริจาคข้าว ของเงินทอง เราย่อมรู้สึกปีติยินดี โดยเฉพาะเมื่อเห็น ผู้รับมีความสุข เราก็พลอยมีความสุขด้วย คนที่คิดแต่จะเอาเข้าตัวอย่างเดียว จะไม่มีวันรู้จัก ความสุขชนิดนี้เพราะถูกความเห็นแก่ตัวครอบงำ |
การให้หรือสละสิ่งของนอกจากเป็นการลดความเห็นแก่ตัวแล้วยังเป็นการลดความยึดติด
ถือมั่นในทรัพย์ด้วย ยิ่งของนั้น ๆเป็นสิ่งที่เรารักหรือหวงแหนมากเท่าไร การสละออกไป
ก็ยิ่งทำให้ความยึดมั่นใน “ของกู”เบาบางลงมากเท่านั้น เป็นการฝึกฝนจิตใจให้รู้จักปล่อยวาง
จึงช่วยให้เรามีความสุขใจได้ง่ายขึ้น เพราะหากมีเหตุให้ต้องสูญเสียทรัพย์ เราก็จะปล่อยวาง
ได้รวดเร็ว ไม่มัวเศร้าโศกเสียใจหรือหวนหาอาลัย หรือเป็นทุกข์สองต่อ คือ นอกจากเสียของ
แล้ว ยังเสียอารมณ์อีกต่างหาก นอกจากความยึดติดถือมั่นในทรัพย์แล้ว ความยึดติดใน
อารมณ์ต่าง ๆ เช่น ความโกรธเกลียด ความคับแค้นข้องขัด ความน้อยเนื้อต่ำใจ ก็เป็นสิ่งที่
ต้องลดละด้วยจึงจะทำให้เรามีความสุขอย่างแท้จริง
การลดละอย่างที่กล่าวมา ทำไม่ได้ด้วยการให้ทาน แต่ต้องอาศัยวิธีการอื่น ได้แก่ การควบคุม
กายวาจาไม่ให้ทำตามอำนาจของอารมณ์ และการฝึกจิตให้เป็นอิสระหรือปล่อยวางอารมณ์
เหล่านั้นได้ วิธีการดังกล่าวก็คือ ศีล และ ภาวนา นั่นเอง จะเห็นได้ว่าการปฏิบัติธรรม
หรือการทำบุญในพุทธศาสนา ล้วนเป็นไปเพื่อการลดละหรือสละวางสิ่งซึ่งก่อความข้องขัดใน
จิตใจ ซึ่งมีแก่นแกนอยู่ที่ความยึดติดถือมั่นในตัวตน หรือยึดมั่นว่าเป็น “ตัวกู ของกู”
ความยึดติดถือมั่นดังกล่าวแสดงอาการออกมาในหลายรูปลักษณ์ เช่น อยากได้ไม่รู้จักพอ
(ตัณหา) อยากใหญ่ใคร่เด่น(มานะ) และติดยึดในความเห็นของตน(ทิฏฐิ) ตราบใดที่ยังมี
ความยึดติดถือมั่นในตัวตนอย่างแน่นหนา ก็ยากจะมีความสุขใจได้ แม้มีวัตถุพรั่งพร้อมและมี
อำนาจล้นแผ่นดินก็ตาม ความสำเร็จทางโลกนั้นมุ่งที่การแสวงหาสิ่งต่าง ๆ มาครอบครองให้
มากที่สุด สิ่งที่มักตามมาก็คือ ความยึดติดถือมั่นในตัวตนเพิ่มพูนมากขึ้น ทำให้เกิด
ความอยากได้มากขึ้นกว่าเดิม ไม่มีความสุขกับสิ่งที่มี ขณะเดียวกันก็เกิดความหลงตัวว่าเก่ง
และสูงเด่น รวมทั้งยึดมั่นในความเห็นของตนเหนียวแน่นกว่าเดิม ซึ่งมักนำไปสู่การวิวาท
บาดหมางและทะเลาะวิวาท ดังนั้นจึงมักมีเรื่องร้อนใจอยู่เนือง ๆ สุขแต่กาย แต่ใจไม่เป็นสุข
ข้อธรรมคำสอน พระไพศาล วิสาโล
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น